รีเซต

วันเฉลิม : ฟังเสียง 3 ทายาทผู้ถูกอุ้มหาย-ถูกสังหาร ร่องรอยชีวิตที่เวลาไม่อาจเยียวยาได้

วันเฉลิม : ฟังเสียง 3 ทายาทผู้ถูกอุ้มหาย-ถูกสังหาร ร่องรอยชีวิตที่เวลาไม่อาจเยียวยาได้
บีบีซี ไทย
19 มิถุนายน 2563 ( 12:13 )
135

เสียงร้องตะโกนว่า "หายใจไม่ออก ๆ" ที่หลุดเข้าหูพี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา เมื่อเย็นวันที่ 4 มิ.ย. และยังไม่มีข่าวคราวจนถึงทุกวันนี้ ยังคงเป็นเชื้อไฟสำคัญที่ทำให้ประเด็น "การอุ้มหาย" ถูกพูดถึงต่อเนื่องทั้งในสื่อออนไลน์และในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ฝ่ายค้านตั้งคำถามต่อการจัดการเรื่องนี้ของรัฐบาลอย่างดุเดือด

 

นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มีคนไทยไปลี้ภัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 100 คน และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 6 คนที่หายตัวปริศนา อีก 2 คนกลายเป็นศพ ถูกคว้านท้องและยัดด้วยเสาปูน และมีอีกหลายเหตุการณ์ในอดีตที่โด่งดังแต่ก็ไม่เคยได้รับการคลี่คลาย

 

บีบีซีไทยคุยกับทายาทผู้ถูกอุ้มหายและอุ้มฆ่าในอดีต ว่าเขาและเธออยู่กับบาดแผลของครอบครัวอย่างไร และเหตุการณ์นั้นเป็นแรงขับเคลื่อนทางความคิดในปัจจุบันอย่างไร

ทายาทสุรชัย แซ่ด่าน : ปนัดดา ด่านวัฒนานุสรณ์

"ในความรู้สึก รู้สึกว่าปะป๊ายังอยู่นะ ยังอยู่..ยังอยู่ รอเวลา ถ้าปะป๊ายังอยู่ปะป๊าก็ต้องออกมา"

คำพูดดังกล่าวแสดงถึงความหวังที่ยังไม่หมดสิ้นไปของปนัดดา ด่านวัฒนานุสรณ์ ลูกสาวนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักกิจกรรมทางการเมือง วัย 77 ปี ซึ่งมีข่าวออกมาเมื่อ ธ.ค. 2561 ว่าหายตัวไประหว่างลี้ภัยอยู่ในประเทศลาว ผ่านไปเกือบ 3 ปี การติดตามตัวของครอบครัวและทางการก็ยังไม่คืบหน้า

 

ปนัดดา ในวัย 55 ปี เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าการถูกอุ้มหายของคุณพ่อ ไม่ได้เป็นเพียงการ "จาก" กับพ่อครั้งแรก เพราะเมื่อตอนเธอ 7 ขวบ เธอต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่ออยู่นานหลายปี เมื่อนายสุรชัยหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นพ่อก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดในหลายคดีและถูกลงโทษจำคุกนานถึง 16 ปี ตั้งแต่ปี 2524-2539

ตอนเด็ก ๆ เธอจำความได้ว่าพ่อเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ และภาพหนึ่งที่จำได้ติดตา คือตอนที่เขาขึ้นไปยืนพูดบนเวทีที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่ามกลางคนฟังจำนวนมาก พ่อของเธอถือไม้เท้าพยุงร่าง เพราะเพิ่งประสบอุบัติเหตุมา

 

นั่นเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เธอได้อยู่กับพ่อ หลังจากนั้นไม่นานปนัดดาก็ถูกส่งตัวไปอยู่กับย่าเพราะสถานการณ์การเมืองที่เริ่มวุ่นวายเกินกว่าที่เธอจะเข้าใจในช่วงเวลานั้น มารับรู้เมื่อโตแล้วว่าตอนนั้นพ่อ "หนีเข้าป่า"

ปนัดดาได้พบหน้าพ่ออีกครั้งตอนเธออายุ 15 ปี

"อ๋อ...หน้าตาพ่อเราเป็นแบบนี้นะ" ปนัดดาเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ เมื่อเธอได้มีโอกาสได้พบหน้าพ่ออีกครั้งหลังจากผ่านไปเกือบ 10 ปี ขณะนั้นสุรชัยถูกจำคุกอยู่

 

การได้กลับมาเจอกันอีกครั้งช่วยให้ความสัมพันธ์พ่อลูกกลับมาแน่นแฟ้นได้เพราะคุณลุงของเธอหมั่นพาไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำบางขวาง หลังจากพ้นโทษมาเธอก็มีโอกาสได้อยู่กับพ่อที่ จ.นครศรีธรรมราช อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่เขาจะลี้ภัยไปต่างแดนในเวลาต่อมา

Getty Images
ครอบครัวของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน เข้าสวมกอด หลังจากที่ได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556

นายสุรชัยเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจากจอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากเข้าป่าไป 5 ปีและถูกจำคุก 16 ปีจากหลายคดี เช่น เผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปล้นรถไฟ ปี 2554 เขาถูกตัดสินจำคุกอีกครั้งหนึ่งด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 12 ปี 6 เดือน แต่ได้ขออภัยโทษพิเศษรายบุคคล ทำให้ได้ลดโทษลงมาและได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556

เมื่อ 20 พ.ค. 2557 สองวันก่อนการรัฐประหาร นายสุรชัยได้หลบหนีออกจากประเทศ ขณะที่กำลังถูกดำเนินคดีกรณีเป็นหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงบุกโรงแรมที่พัทยาขณะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

 

ขณะลี้ภัยที่อยู่ในลาว นายสุรชัยเผยแพร่วิดีโอผ่านยูทิวบ์ประมาณสองครั้งต่อสัปดาห์ โดยคลิปแรกมีการเผยแพร่ในยูทิวบ์เมื่อ ส.ค. 2557

"ตอนปะป๊าลี้ภัยไปอยู่ที่นั่น ก็ติดตามฟังแกจากยูทิวบ์ตลอด ดูทุกคลิป บางทีก็คุยกันทางไลน์บ้าง เหมือนว่ามีพ่ออยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้ไปไหน แต่ตอนนี้มันเงียบหมด" ปนัดดาเล่า

เธอบอกว่าที่ผ่านมา เธอคุยกับพ่อตลอด

"ไม่ว่าจะเดือดร้อน จะทุกข์ จะสุข เราก็คุยกับปะป๊า แต่หลังจากที่ปะป๊าหายไปก็เหมือนเราอยู่ตัวคนเดียว เหมือนไม่มีใคร"

ปนัดดาเล่าว่าการใช้นามสกุลของพ่อมีผลต่อการสมัครงานของเธออย่างมาก เพราะไม่ว่าจะสมัครงานที่ไหนก็ไม่รับ ซึ่งเธอเชื่อว่านามสกุล "ด่านวัฒนานุสรณ์" อาจจะมีผล เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล ก่อนจะกลับมาใช้นามสกุลของพ่ออีกครั้งเมื่อหันมาประกอบอาชีพค้าขาย

 

ปนัดดายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะตัดสินใจออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้พ่อ เพราะเธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงานดูแลลูกเพียงลำพัง และยังหวังว่าลูกของเธอจะได้พบคุณตาสักครั้ง

ที่ผ่านมาคนที่ติดตามคดีการหายตัวไปของนายสุรชัยคือนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งเป็นภรรยาคนปัจจุบันของนายสุรชัย

ปนัดดาบอกว่าเธอรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่มีข่าวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกอุ้มหาย

 

"ทำไมถึงเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้ แล้วทำไมเราถึงทำอะไรไม่ได้ ไม่เข้าใจจริง ๆ คนมีความคิดต่าง ความคิดเห็นมันต่าง แต่เขาไม่ได้ไปประหัตประหารฆ่าใคร ทำไมต้องไปทำแบบนั้น คุณจับเขาก็จับดำเนินคดีไป ไม่ควรไปเอาชีวิตเขา ถ้าคนในครอบครัวคุณโดนแบบนี้บ้าง คุณจะรู้สึกยังไง" ลูกสาวนายสุรชัยตั้งคำถาม

ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวของสุรชัย แซ่ด่าน จะคลี่คลายออกมาในรูปแบบใด ปนัดดาเพียงแต่หวังว่า "หลานตา" จะได้มีโอกาสพบคุณตาอีกสักครั้ง ซึ่งนั่นเป็นความปรารถนาที่สุดของครอบครัว

 

ทายาททนง โพธิ์อ่าน : อดิศร โพธิ์อ่าน

"เหมือนเราตกนรก คำว่านรกมันครอบคลุมหลาย ๆ อย่าง ทุกสิ่งที่มีอยู่เหมือนหายวับไปกับตา ทั้งคนที่ดีกับเรา มาดูแลเรา ได้เห็นทุกอย่างมันพัง หนี้สิ้นก็รุมเร้าเข้ามา ชีวิตพัง ผมจะเรียนหนังสือก็ไม่ได้เรียน น้องคนกลางก็ไม่ได้เรียน เป็นเนื้องอกในสมองก็ไม่มีเงินผ่าตัด"

อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายของนายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เล่าถึงสิ่งที่ครอบครัวของเขาต้องเผชิญหลังจากพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวถูกอุ้มหายไปเมื่อ 19 มิ.ย. 2534 ตอนนั้นเขายังเป็นเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่ไม่เคยลำบากเพราะครอบครัวพอกินพอใช้

 

ด้วยความเป็นลูกคนโตจึงมีโอกาสได้เห็นการทำงานของพ่อมาโดยตลอด อดิศรเล่าอย่างภาคภูมิใจถึงอดีตตอนที่พ่อของเขาดูแลสหภาพแรงงานขนส่งสินค้าขาออกว่าพ่อจะช่วยดูแลแรงงานทุกคนในทุกเรื่องด้วยตัวเองทุกครั้ง ไม่ว่าใครจะตกน้ำ ไฟไหม้ หรือทุกข์ร้อนอย่างไร ทนงจะไปช่วยเหลือด้วยตัวเองทุกครั้ง นับว่าเป็นยุคที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็งที่สุดก็ว่าได้

หลังรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 โดย มี พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คณะรัฐประหารประสงค์แยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจได้ นายทนงในฐานะผู้นำแรงงานจึงไม่อาจยอมรับได้ ด้วยมองว่าเป็นการสร้างปัญหาให้กับแรงงาน มีการแสดงทัศนะโต้เถียงกับ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และ รองหัวหน้า รสช. อยู่หลายครั้ง จนครอบครัวอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะมีการส่งคนมาติดตาม รวมถึงมาเจรจาขอให้ยุติบทบาทพร้อมข้อเสนอเงินกว่า 30 ล้าน

 

"คนมาเฝ้าหน้าบ้านตลอด 7-8 โมงเช้าต้องมีมอเตอร์ไซค์มาจอด ขับวนไปวนมาคอยดู หน้าปากซอยก็มีรถเก๋งสองคันมาจอดรอให้มอเตอร์ไซค์ด้านในส่งสัญญาณว่ารถที่บ้านออกมาแล้วนะ ถ้าเป็นผมเขาก็ไม่ตามต่อ ถ้าเป็นพ่อเขาก็ตามประกบ"

อดิศร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่เขามีโอกาสขับรถพาพ่อไปเยี่ยมคนงานที่ประสบอุบัติเหตุ แต่พอออกจากบ้านไม่นานก็เห็นว่ามีรถ 2 คันขับรถตามประกบ ทั้งคู่จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนเดินทางไปยังสหภาพแรงงานขนส่งย่านฝั่งธนฯ แทน และให้กลุ่มคนงานช่วยกันดักรถที่ตามมา พบว่าเป็นกลุ่มชายตัดผมเกรียนกว่า 10 คน

 

"ผมเดินเข้าไปกับคนงาน 2-3 คน เขาก็คงกลัว คันนึงก็ขับรถหนีออกไป ในมือผมถือกระป๋องนมอยู่ผมก็วิ่งไปดักกำลังจะปากระจกรถอีกคัน พ่อผมตะโกนว่าอย่า ผมก็เลยเสียใจมาถึงทุกวันนี้ถ้าวันนั้นผมปากระจกรถเขาแตก ก็น่าจะมีบันทึกประจำวันที่ สน. แล้วพ่อผมอาจจะไม่ถูกอุ้มก็ได้"

หลังจากเหตุการณ์นั้นไม่นาน นายทนงได้รับเชิญเป็นผู้แทนแรงงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงาน ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เขาตั้งใจที่จะนำเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนงานไทยไปกล่าวในที่ประชุม ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามมิให้ทนงเดินทางไปร่วมประชุม แต่ท้ายที่สุดทางองค์กรก็ยังยืนยันที่จะให้นายทนงเดินทางไป

 

แต่การเดินทางนั้นก็ไม่เกิดขึ้น เพราะก่อนการเดินทางเพียงวันเดียว นายทนงก็ได้หายตัวอย่างไร้ร่องรอย พบเพียงรถที่ขับออกจากกบ้านจอดทิ้งไว้ใกล้สหภาพแรงงานขนส่งสินค้าขาออก

"เขา (พ่อ) รู้ทุกอย่างนะว่าทำไปก็ต้องตายแต่ก็ไม่ยอมถอย แม่กับผมเองก็เคยคุยว่า พ่อทำแบบนี้สุดท้ายพังหมดเลยนะ ทำไมเราไม่ถอยก่อนเก็บพลังไว้สู้วันหน้า พ่อเขาไม่ถอย เขารั้น เขาไม่เชื่อ เขาเชื่ออย่างเดียวว่าเขาต้องทำให้ได้"

 

นับตั้งแต่เหตุการณ์อุ้มหาย ครอบครัวโพธิ์อ่านต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตัวเองโดยไร้หัวหน้าครอบครัว แต่อดิศรก็สัมผัสได้ถึงผลลัพธ์ของความดีที่คุณพ่อได้ทำไว้ ที่งอกเงยออกผลให้ร่มเงาในวันที่ไม่มีเขาแล้ว ด้วยมีผู้ที่หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ ทั้งทุนการศึกษาสำหรับน้องคนเล็ก และค่ารักษาพยาบาลของน้องคนกลาง

อดิศรนึกถึงคำสอนหนึ่งของพ่อบอกเขาเสมอว่า "เมื่อดีแล้วต้องอย่าลืมสังคม ตอบแทนแผ่นดินเกิด ด้วยการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส" อดิศรจึงเลือกเดินหน้าเส้นทางสายการเมืองโดยหวังว่าจะทำให้เขาได้ช่วยเหลือสังคม

 

ผ่านเวลาไปเกือบ 30 ปี หลังการหายตัวไปของนายทนง อดิศรมองว่าสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม คนเล็กคนน้อยยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้

ปัจจุบันนี้อดิศรทำโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนย่านดินแดงและคลองเตย เพราะเชื่อว่าเยาวชนทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ และไม่อยากให้เด็กเหล่านี้ต้องถูกทอดทิ้งหรือดูถูกเช่นเดียวกับที่เขาและน้อง ๆ เคยพบเจอมา

 

ทายาทเตียง ศิริขันธ์ : จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

"ไม่ได้กลัวมากขึ้น ก็อยู่บนประเทศที่ไม่เคยปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่เคยรู้สึกเลยว่าประเทศนี้ปลอดภัย"

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรือ อั๋ว ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวกรณีการหายตัวไปของนักกิจกรรมทางการเมืองในขณะนี้ เพราะเชื่อว่าการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องขับเคลื่อนในโลก "ออฟไลน์" คู่ขนานกันไปด้วย แม้ต้องแลกกับความปลอดภัยของตัวเองที่น้อยลงก็ตาม แถมยังถูกแจ้งความในข้อหาละเมิด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการทำกิจกรรม "ผูกริบบิ้นขาว" เรียกร้องความเป็นธรรมให้นายวันเฉลิม

หากใครที่ติดตามการเมืองไทย เมื่อได้ยินนามสกุลของเธออาจสะดุดหู เพราะเธอมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของนายเตียง ศิริขันธ์ เจ้าของฉายา "ขุนพลภูพาน" ที่ถูกอุ้มหายก่อนจะพบว่าถูกฆ่าตายโดยตำรวจ

นายเตียงเป็นบุคคลสำคัญของแวดวงการเมืองไทย เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.สกลนคร หลายสมัย จนก้าวมาเป็นรัฐมนตรี และเป็นเสรีไทยสายอีสานที่ร่วมต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะสูญหายไปในวันที่ 12 ธ.ค. 2495 จนต่อมาผลการสอบสวนพบว่าถูกตำรวจจับไปทรมานและฆ่ารัดคอก่อนที่จะเผา โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเขาถูกสังหารเพราะความขัดแย้งทางการเมือง

จุฑาทิพย์บอกกับบีบีซีไทยว่าเธอไม่เคยรับรู้เรื่องราวของ "ปู่เตียง" เลย อาจเพราะครอบครัวมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งอาจเป็นห่วงเพราะเธอมีความสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก

ตอนอายุ 15 ปี แม่ของเธอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ซึ่งเธอพบว่ามีการพูดถึงบุคคลหนึ่งที่นามสกุลเดียวกับเธอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจเรื่องราวของบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น จนได้รับคำยืนยันของญาติฝ่ายพ่อว่าบุคคลนั้นคือนายเตียงซึ่งเป็นพี่น้องกับปู่แท้ ๆ ของเธอ

"ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง" นี่เป็นคำพูดหนึ่งของปู่เตียงที่เธออ่านเจอในหนังสือและติดตรึงใจเธอมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันทำให้เธอตั้งคำถามกับสังคมไทยว่าเหตุใดจึงยังคงมีการกดทับระหว่างชนชั้นต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน

จุฑาทิพย์ไม่ปฏิเสธว่าการได้รู้ว่าตัวเองเป็นหลานของปู่เตียงนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ที่ทำให้เธอยิ่งพยายามเรียนรู้จากอดีตและเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมโดยคาดหวังว่าการต่อสู้ในครั้งนี้จะไม่จบลงเช่นเดิม

"สิ่งที่เราเห็นชัดมากขึ้น คือทุกการต่อสู้มักมีการต่อต้านเสมอ หลัก ๆ ก็มาจากรัฐ คนที่มีอำนาจ ทุกครั้งที่เราออกมาพูด ออกมาส่งเสียงเขาก็จะหาเสียงอื่นมากลบเสียงเรา...พยายามที่จะด้อยค่าเรา พยายามให้เรากลายเป็นคนโง่ในสายตาประชาชน"

ด้วยสถานะที่ยังเป็นนักศึกษาขั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กลายมาเป็นแกนนำนักศึกษา ทำให้ครอบครัวอดเป็นห่วงและกังวลไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีตำรวจแวะเวียนมาแถวบ้านบ่อยครั้ง แต่ครอบครัวก็ไม่ได้ห้ามและยังสนับสนุนให้เธอเคลื่อนไหวภายใต้กฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี

จุฑาทิพย์มองว่าในสมรภูมิการต่อสู้ที่เธอพ่วงนามสกุลซึ่งเป็นที่รู้จักไปด้วยนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องแบกรับ

"มันเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักเรามากขึ้น แต่ข้อเสียอาจจะเป็นการถูกเพ่งเล็งมากขึ้นจากภาครัฐ"

ผ่านไปแล้วเกือบ 70 ปีกับกรณีอุ้มหายของปู่เตียง แต่บรรยากาศการเมืองดูจะไม่ต่างไปมากนักในสายตาจุฑาทิพย์ ด้วยเธอยังคงต้องเดินหน้าเรียกร้องเรื่องเดิม ๆ ทั้งความเท่าเทียม การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเหมือนครั้งที่ปู่ต่อสู้มา ยิ่งเมื่อมีกรณีการอุ้มหายของนายวันเฉลิม เธอจึงไม่อาจนิ่งเฉยได้

"รับไม่ได้มาก ๆ ที่มันเกิดขึ้นในยุคนี้ ยุคที่ทุกคนบอกว่าคนเท่าเทียม ยุคที่สิทธิมนุษยชนเฟื่องฟู แต่ก็ยังมีการอุ้มหาย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง