'คมนาคม' เร่งเครื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. เตรียมปฏิรูป 162 เส้นทาง ตั้งธงเสนอครม.ใน ก.พ.64
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. กลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งมอบการบ้านให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (สภาพัฒน์ฯ) ซึ่งในขณะนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 1 ชุด โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้อำนวยการ ขสมก., อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อบูรณาการ และพิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. ตามที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มอบการบ้านไว้
ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2564 จากนั้นหากสภาพัฒน์ฯ จัดประชุมและพิจารณาให้แล้วนั้น คาดหวังว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน ก.พ. 2564 ขณะที่ การปฏิรูปเส้นทาง 162 เส้นทาง และการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อน รวมถึงจัดการเดินรถในลักษณะ Feeder Liner (ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง) และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างเป็นระบบการปรับปรุงนั้น จะต้องเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป
“เมื่อเราเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ฯ ให้พิจารณาแล้ว ถ้ารอบแรกไม่ผ่าน ก็ได้เรียนท่านปลัดกระทรวงคมนาคมไว้ว่า ให้ถามเลย จะให้ทำแบบไหน บอกมาเลย อย่าบอกว่าโลกนี้มีอะไรอยู่ในโลกบ้าง เราตอบไม่ได้ ต้องบอกเลยว่า อยากให้ทำแบบไหน ซึ่งเมื่อเลขา ครม. มอบการบ้าน 1, 2, 3, 4, 5 เราก็จะทำ 1, 2, 3, 4, 5 และจะเรียนท่านเลขา ครม.ว่า คงไม่มี 6, 7, 8, 9 เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ถือเป็นเวรกรรมของพี่น้องประชาชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเป็นเวรกรรมของคนทั้งประเทศ เพราะเมื่อขาดทุน ก็ต้องเอาภาษีมาอุดหนุน ซึ่งทำได้ ง่ายมาก ก็แค่ขอกู้เงินเพื่ออุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) แต่ผม และท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้ง 2 รวมถึงผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ต้องการทำให้ครอบคลุมและสมบูรณ์” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม และอยู่ระหว่างการทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอศาลล้มละลายกลางนั้น ซึ่งตนไม่ต้องการให้ ขสมก. เป็นไปตามรูปแบบนั้น รวมถึงไม่ต้องการผลักให้ไปเป็นหน่วยงานรูปแบบเอกชน เนื่องจากมีวิธีในรูปแบบอื่น เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เชื่อว่า จะอยู่รอด หลังจากในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. และศึกษาให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม หวังว่า หาก ขสมก สามารถดำเนินการฟื้นฟูได้สำเร็จนั้น จะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วย