สุโขทัยระทม ! บทสรุปสาเหตุการอับปางของ “เรือหลวงสุโขทัย”
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี สำหรับเหตุการณ์ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง และแน่นอน เรื่องนี้เป็น “กระแสสังคม” อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเงียบหายเข้ากลีบเมฆตามระเบียบ
กระนั้น เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา กลับได้มีการแถลงถึง “สาเหตุ” การอับปางลงของเรือที่ตั้งชื่อตามอาณาจักรที่โบราณที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากกองทัพเรือ
และนี่คือ “ถ้อยแถลง” จากกองทัพเรือ ที่สามารถ “สรุปความได้” ดังต่อไปนี้
ต้องโทษคลื่น โทษฝนฟ้า และโทษอากาศ
“เรืออับปางไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการและลูกเรือ แต่เพราะสภาพอากาศที่รุนแรงฉับพลัน และน้ำทะเลเข้าตัวเรือ ทำให้เรือเอียงและจม”
เบื้องต้น คือข้อชี้แจงของ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ สิงขรวัฒน์ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งสามารถที่จะจับใจความได้ว่า สาเหตุ “หลัก ๆ” ที่เกิดการอับปางขึ้นนั้น เป็นผลมาจาก “เงื่อนไขภายนอก” ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มากกว่าที่จะเป็น “เงื่อนไขความผิดพลาดส่วนบุคคล” อย่างกัปตันหรือลูกเรือ
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกัน ความว่า ที่จริง เรือหลวงนี้ สามารถเดินเรือได้ถึงระดับ Sea Stage 5 ในระดับคลื่นที่มีความสูง 2.5 - 4 ม.โดยสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริงมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ฉับพลัน จากที่มีการพยากรณ์ไว้ จึงทำให้เรือโคลงมาก ควบคุมเรือได้ยาก การทรงตัวของเรือและกำลังพลอยู่ในภาวะไม่ปกติ การทำกิจวัตรหรือปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้เหมือนในภาวะปกติ
สิ่งนี้ ได้ยังผลให้ “เกิดการกระทบ” ต่อการตัดสินใจของกัปตันและลูกเรือ เพราะในสถานการณ์ตรงหน้านั้น “ไม่ปกติ” ต่อการกระทำที่เป็นเรื่อง “พื้นฐาน” ในการควบคุมเรือ หรือการเอาตัวรอดได้
นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 18 - 19 ธ.ค. มีเรืออับปางในอ่าวไทยถึง 7 ลำ ที่อ่าวไทย ด้วยเหตุผลที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
สิ่งนี้เอง ยังผลต่อมาให้เกิด “เงื่อนไขแทรกแซง” ที่เป็น “สิ่งเร่ง” ให้เกิดวิกฤตการณ์ที่สาหัสมากยิ่งขึ้น นั่นคือ การที่เรือหลวงสุโขทัยนั้น “เกิดรอยรั่ว” และ “แผ่นกั้นคลื่นมีอาการยุบ”
พล.ร.ต.อภิรมย์ เงินบำรุง เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และคณะกรรมการสอบสวน ได้ชี้ชัดว่า “ขณะที่รอยรั่วของเรือที่ยุบเข้าไป เกิดจากวัตถุภายนอกกระแทก ไม่ได้เกิดจากตะเข็บของเรือ ซึ่งเกิดจากการกระแทก แต่ไม่พบวัตถุตกอยู่เช่นกัน ยาว 1 ฟุต กว้าง 3-4 นิ้ว … ความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการเสียการทรงตัวคือ แผ่นกันคลื่น ป้อมปืน 76 มม. ทะลุบริเวณกราบซ้าย ห้องกระชับเชือกหัวเรือ และประตูด้านท้ายป้อมปืน แผลพวกนี้ทำให้น้ำเข้าเรือ และท่วมไปยังห้องด้านหลัง และทำให้เรือเสียการทรงตัวเอียงและจมในที่สุด”
การตัดสินใจที่ผิดพลาด?
แน่นอน แถลงการณ์กว่า 2 ชม. ครึ่ง เป็นไปในลักษณะ “ให้น้ำหนัก” ไปที่เงื่อนไขภายนอก แต่สิ่งที่ทำให้เกิด “ข้อสงสัย” มาจากในตอนหนึ่ง ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทัพเรือภาคที่ 1 ชี้แจงเพิ่มเติม ใจความว่า
“การตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ตัดสินใจนำเรือกลับฐานทัพสัตหีบ จ.ชลบุรี แม้ว่าจะไกล และใช้เวลามากว่านำเรือเข้าเทียบท่าประจวบฯ แต่ตัดสินใจเพราะคลื่นลมหน้าท่ารุนแรง หากนำเรือเทียบท่าจะไม่สามารถจัดเรือลากจูงเข้าสนับสนุนการเทียบเรือได้ การเข้าเทียบอาจเกิดอันตราย รวมถึงเวลานั้นยังไม่ได้ข้อมูลว่าแผ่นกันคลื่นฉีกขาดและหากนำเรือพ้นพื้นที่ใกล้ฝั่ง คลื่นลมอาจเบาบางลง ซึ่งเป็นการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลจำกัด”
ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติม ความว่า “ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ได้ระบุว่า ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจรบเต็มรูปแบบจึงจัดกำลังเพียง 75 นายจาก 100 นาย รวมถึงจัดที่พักอาศัยบนเรือให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งรวม 30 นาย เมื่อไปถึงภาวะที่ต้องปฏิบัติงานที่ภาวะคลื่นลมรุนแรง ทำให้ประสิทธิภาพลดลงและต้องปกป้องความเสียหายหลายสถานที่พร้อมกันจึงทำให้ทำได้อย่างจำกัด”
ตรงนี้ หากอ่านดี ๆ จะพบว่า “การตัดสินใจของกัปตัน” มีผลทำให้เกิดการอับปางเกิดขึ้น
แต่ในการพิจารณาคดีทางแพ่ง กลับชี้มูลว่า การตัดสินใจของ ผบ.เรือ เป็นดุลยพินิจที่สามารถทำได้ และไม่ได้จงใจให้เรือหลวงสุโขทัยอับปางแต่อย่างใด
พล.ร.อ.ชัยณรงค์ บุณยรัตนกลิน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดชอบทางละเมิด ระบุว่า
“การอับปางของเรือหลวงสุโขทัย เกิดจากสภาพคลื่นลมรุนแรงเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการจงใจของผู้บังคับการเรือ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ในการรับผิดทางละเมิด ตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติความเสียหายที่เกิดกับทางราชการ หรือทรัพย์สินของทางราชการ อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ผบ.และเจ้าหน้าที่จึงไม่ต้องชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง”
ย่อมหมายความว่า การพิจารณาคดี ได้ให้นำหนักว่า “เงื่อนไขภายนอก” มีผล “มากกว่า” “การตัดสินใจ” ของกัปตันและลูกเรือ ไม่ต่างกัน
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
https://www.facebook.com/RoyalThaiNavyFanpage