รีเซต

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งแผนจัดหาก๊าซ-เชิญเอกชนร่วมยื่นขอสิทธิสำรวจ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งแผนจัดหาก๊าซ-เชิญเอกชนร่วมยื่นขอสิทธิสำรวจ
ทันหุ้น
2 มิถุนายน 2565 ( 16:42 )
98

ข่าววันนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าจัดหาก๊าซธรรมชาติ เสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมประกาศเชิญชวนเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 เพิ่มศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย รองรับสถานการณ์ด้านพลังงานผันผวนสูง

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และ แปลง G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับอัตราการผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยเดือนพฤษภาคมของแปลง G1/61 อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแปลง G2/61 อยู่ที่ประมาณ 870 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำกับดูแลและผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียม (Ramp up) ของแปลง G1/61 ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ

 

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนี้

 

1. ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม โดยการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 รวมถึงแปลง B-17ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มนี้ได้ทยอยเข้าระบบแล้ว

 

2. กำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และประสานให้เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และ 

 

3. ในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ  การให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย 1. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 พื้นที่ 8,487.20 ตารางกิโลเมตร 2. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 มีพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร 3. แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G3/65 มีพื้นที่ 11,646.67 ตารางกิโลเมตร

 

**เชิญชวนเอกชนร่วมยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

 

นายสราวุธ กล่าวว่า หลังจากมีการออกประกาศเชิญชวนเพื่อเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประชาสัมพันธ์ประกาศเชิญชวนฯ ไปยังบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมภายในประเทศ และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศในการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่สนใจให้เข้ามาสำรวจละผลิตปิโตรเลียม เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนและพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์รองรับความผันผวนด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสงค์ที่จะเชิญชวนให้บริษัทต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนโดยเข้าร่วมการประมูลยื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 นี้ ซึ่งกรมฯ เชื่อมั่นว่ากลไกต่างๆในการบริหารสัญญาแบ่งปันผลผลิตในอนาคตโดยรัฐ จะสามารถทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในการประมูลยื่นขอสิทธิฯ ครั้งนี้ได้ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท จากกิจกรรมการสำรวจปิโตรเลียม และหากมีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกเป็นจำนวนมาก” นายสราวุธกล่าว

 

สำหรับปีงบประมาณ 2565 (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม SRB และรายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนในการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งสิ้น 27,635.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 3,161.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.92

 

ส่วนการจัดเก็บรายได้ระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน 2565 ซึ่งจะรวมรายได้จากแปลงที่ดำเนินการในระบบสัมปทาน และแปลงที่ดำเนินการในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (รายได้ประกอบด้วยค่าภาคหลวง  ส่วนแบ่งกำไร และค่าตอบแทนการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากทั้ง 2 ระบบ รวมทั้งสิ้น 25,653 ล้านบาท 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง