รีเซต

บอสใหญ่ 'เอสซีจี' เผยเบื้องหลัง ดีลวัคซีนโควิด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ก่อนเซ็นสัญญา

บอสใหญ่ 'เอสซีจี' เผยเบื้องหลัง ดีลวัคซีนโควิด 'แอสตร้าเซนเนก้า' ก่อนเซ็นสัญญา
มติชน
25 มกราคม 2564 ( 12:34 )
195

เมื่อวันที่ 25 มกราคม รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง 9 MCOT ได้นำเอาคลิปวิดีโอของงาน Intania Dinner Talk 2020 เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดย หนึ่งในศิษย์เก่า ‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส‘ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 25 ได้เปิดเผยถึงการร่วมซื้อวัคซีน กับอ๊อกซ์ฟอร์ด และ แอสตร้าเซนเนก้า

 

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตอนช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ทางเอสซีจี ได้เข้าไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนั้นทำห้องตรวจเชื้อ ทำไปได้สักพัก ก็พบว่า โควิดนี้ประเทศไทยทางเดียวที่จะรอดได้ก็คือต้องมีวัคซีน เนื่องจาก เอสซีจี ทำเรื่อง R&D (Research and Development) กับอ๊อกซ์ฟอร์ดมา 10 ปีแล้ว ก็ทราบว่าทางอ๊อกซ์ฟอร์ดกำลังทำเรื่องวัคซีนอยู่ สักช่วง พ.ค. น่าจะเริ่มคุยได้

 

ตอนนั้นก็รู้จักกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลอยู่หลายท่าน ก็เลยถามว่า อยากให้ทางเราติดตามเรื่องนี้ขนาดไหน ก็ได้คำตอบว่าก็ดี อยากให้เอกชนมามีบทบาททางนี้ ผมก็เลยได้มีโอกาสคุยกับทางอ๊อกซ์ฟอร์ด เขาก็สงสัยว่าบริษัททำปูน แพกเกจจิ้ง มายุ่งอะไรกับวัคซีน ผมก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่เข้าไปถามจากมุมมองของ CSR เราก็คนไทย เราก็มองว่าคนไทยลำบาก ไม่ใช่แค่สุขภาพแต่เศรษฐกิจด้วย มีอะไรจะช่วยได้ก็อยากจะช่วย

 

อ๊อกซ์ฟอร์ดก็เลยให้ไปคุยกับบริษัท ไลเซนซีของเขา คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นบริษัทอังกฤษ เชื้อสายสวีเดน ก็ไม่แน่ใจจะอย่างไร พอดี เอสซีจี ก็รู้จักกับกลุ่มสยามไบโอไซน์ ซึ่งก่อตั้งโดย ในหลวงรัชกาลที่ 9

 

“ก็ต้องบอกว่าบ้านเรานี่มันดวงจริงๆ สมเด็จพระสยามเทวาธิราชจริงๆ คือ สยามไบโอไซเอนซ์ เพิ่งสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ เผอิญเครื่องจักรเป็นรุ่นเดียวกับสายการผลิตของ แอสตร้าเซนเนก้า ก็เลยเป็นดวงว่า เหมือนซื้อรถมาแล้วมันใช้ได้ ก็เลยคุยกับสยามไบโอไซเอนซ์ ก็บอกว่าเป็นไปได้ สุดท้ายถ้ามีข้อตกลงกันได้ เขาจะยอมเสียโอกาสทางธุรกิจ และก็มาทำวัคซีนนี้ให้กับคนไทย”

 

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า พอดีคุยกับทางภาครัฐ พี่พงษ์ (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน) ก็ซัพพอร์ทมา ทางสธ. ทางรมว.อนุทิน และ นายกฯ ก็สนับสนุนมา ทางอ๊อกซ์ฟอร์ด ก็อยากจะเจรจากับเรา กับทางสยามไบโอไซน์ และ กระทรวงสาธารณสุข สุดท้ายก็บอก โอเค ถ้าตกลงกันได้ เขาก็จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตในอาเซียน ซึ่ง สยามไบโอไซเอนซ์ มีฐานการผลิตประมาณ 200 ล้านโดส ต่อปี ก็ประมาณ 100 ล้านคน พอไหวสำหรับอาเซียน ก็มีข้อตกลงกันอาทิตย์ที่แล้ว

 

“ทางรมว.อนุทิน ก็เซ็นสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า บ้านเราก็จะมีวัคซีน เท่าที่ทางสยามไบโอไซเอนซ์ บอก ครึ่งแรกของปี 2564 เราน่าจะได้วัคซีน”

 

“ก็น่าสนใจเพราะ พอข่าวนี้ออกไป ก็มีอีก 2 บริษัท ไฟเซอร์ ทำกับเยอรมัน และ โมเดอร์นา 2 คนนี้ เขาบอกว่า ตอนที่ขอใช้งานในภาวะฉุกเฉิน ประสิทธิภาพ 93-94% กับ แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพ 90 กว่าเปอร์เซนต์ อีกส่วนคือ 60% เทสต์ในบราซิล ของแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากนัก อย่าง โมเดอร์น่า ต้องเก็บในอุณหภูมิ -20 ซึ่งก็มีความยากลำบากในการขนส่ง ที่ถือว่าแม็กซ์สำหรับเราแล้ว บางประเทศในอาเซียนก็ไม่สามารถทำได้”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง