ข่าววันนี้ ความคืบหน้ารื้อสนง.ป่าไม้แพร่ อายุ 120 ปี ที่ไม่ใช่ "บอมเบย์เบอร์มา" ที่ยังซ่อมไม่เสร็จ
ข่าวเรื่องการรีโนเวท “บ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์” ซึ่งเป็นบ้านโบราณอายุ 115 ปี ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ “หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์” ที่เคยทำสัมปทานไม้ร่วมกับบริษัท บอมเบย์เบอร์มา ตั้งอยู่ในชุมชนท่ามะโอ อ.เมืองลำปาง ที่เคยชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก ได้รับการซ่อมแซมทั้งตัวบ้าน-อาคารที่เก็บของเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ภาพ : บ้านหลุยทีเลียวโนเวนส์ ที่ได้รับการบูรณะแล้ว
การบูรณะดังกล่าว เริ่มในปี 2563 เช่นกัน โดยขณะนั้นเกรงว่าบ้านหลุยส์จะไปซ้ำรอยอาคารเหมือนอาคารไม้เก่าแก่ หรือเรือนขนมปังขิงอายุไม่น้อยกว่า 120-130 กว่าปีในยุคสัมปทานทำไม้ในภาคเหนือของไทย ที่ สบอ.13 แพร่ดำเนินโครงการปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ริมน้ำยม จ.แพร่ ในวงเงินงบประมาณ 4,560,000 บาท แต่สุดท้ายกลับถูกทับ-ทำลายจนเหลือแต่ซาก ทำให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบการบูรณะครั้งนี้อย่างรอบคอบตั้งแต่ต้น กระทั่งดำเนินการมาถึงวันนี้
จากประเด็นข่าวดังเรื่องการรื้อบ้านเก่าโบราณ ที่ตั้งของอาคารของบริษัท บอมเบย์เบอร์มา ในจังหวัดแพร่ เหลือแต่ซาก จนชาวบ้านในพื้นที่ต่างพากันร้องเรียนขอทราบรายละเอียดการรื้อถอน แม้ป้ายประกาศจะติดไว้ว่าเป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซม ตั้งอยู่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่)
ย้อนกลับไปในประเด็นข่าว กรณีกรมศิลปากรเข้ารื้อถอนบ้านหลังดังกล่าว โดยความเคลื่อนไหวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายประธีป เพ็งโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้เคยชี้แจงอาคารเก่าที่ถูกทุบ ไม่ใช่ "บอมเบย์เบอร์มา" แต่เป็นสำนักงานป่าไม้อายุราว 120 ปี อ้างอิงจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งอาคารบอมเบย์เบอร์มาที่แท้จริง ถูกน้ำพัดเสียหายไปก่อนหน้านี้แล้ว
เปิดไทม์ไลน์เกิดอะไรขึ้นกับ"บอมเบย์เบอร์มา" หรือ สำนักงานป่าไม้ 120 ปี
15 มิถุนายน 2563
ผู้รับเหมาทุบอาคารบอมเบย์เบอร์มา อนุสรณ์ค้าไม้เมืองแพร่ ทำให้ชาวบ้านข้องใจทำไมต้องทุบทิ้ง
16 มิถุนายน 2563
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอาคารบอมเบย์เบอร์มา
17 มิถุนายน 2563
กรมอุทยานฯ แจงปมรื้ออาคารบอมเบย์เบอร์มา เพื่อปรับปรุงแต่ยังคงโครงสร้างเดิม พร้อมขอโทษที่ไม่ชี้แจงชาวแพร่
25 มิถุนายน 2563
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเร่งร่างแบบโครงสร้างต่างๆ เพื่อประกอบให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด
22 กันยายน พ.ศ. 2563
เริ่มแผนงานก่อสร้างประมาณกลางปี 2564 งบประมาณที่เตรียมไว้แล้วสำหรับก่อสร้างเบื้องต้น 8.5 ล้านบาท
29 ตุลาคม พ.ศ. 2563
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขุดสำรวจทางโบราณคดี
11 พฤศจิกายน2563
ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ อยู่ระหว่างประสานงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อนำกระบวนการออกแบบภูมิทัศน์ในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะบริเวณสวนรุกขชาติ ให้สัมพันธ์สอดคล้องระหว่างสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์
3 ธันวาคม 2563
สำนักศิลปากรที่7เชียงใหม่ และ สำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร ลงพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถาน
24ธันวาคม 2563
ตรวจสอบจากภาพถ่ายทางอากาศอาคารบอมเบย์เบอร์มาเป็นอาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ซึ่งน่าจะสร้างในปี 2444 เพื่อเป็นสำนักงานควบคุมกิจการการทำไม้ของบริษัทต่างชาติในพื้นที่เมืองแพร่
ปัจจุบัน (มี.ค.2564)
กำลังรองบประมาณในการซ่อมแซมจากกรมป่าไม้ เพื่อดำเนินการตามแผนการสร้าง และจะร่วมทำประชาพิจารณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งภายในอาคาร และภูมิทัศน์โดยรอบ ให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ต่อไป
วันนี้ บ้านไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี จึงรอการฟื้นฟูให้กลับมาตามเจตนารมย์เดิมอีกครั้ง แต่สิ่งที่หายไป คือ เรื่องราวความทรงจำที่ละลายไปพร้อมกับการทุบทำลาย ที่ไม่อาจย้อนเวลาบูรณะกลับคืนมาได้แล้วอีกครั้งได้ต่อไป.
ข้อมูลจาก : ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่, ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช,มติชน