รีเซต

สธ.คิดค้นวิธีหาเชื้อ “โควิด-19” ง่าย-รู้ผลเร็ว ขาก "เสมหะ" นำตรวจ RT-pcr ไม่ต้องล้วงคอ

สธ.คิดค้นวิธีหาเชื้อ “โควิด-19” ง่าย-รู้ผลเร็ว ขาก "เสมหะ" นำตรวจ RT-pcr ไม่ต้องล้วงคอ
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 14:38 )
193
สธ.คิดค้นวิธีหาเชื้อ “โควิด-19” ง่าย-รู้ผลเร็ว ขาก "เสมหะ" นำตรวจ RT-pcr ไม่ต้องล้วงคอ

สธ.คิดค้นวิธีหาเชื้อ “โควิด-19” ง่าย-รู้ผลเร็ว ขาก “เสมหะ” นำตรวจ RT-pcr ไม่ต้องล้วงคอ

โควิด-19 เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.อภิชาติ วชิรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ร่วมเปิดเผยถึงกรณีการใช้ LAMP test ตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19  ซึ่งเป็นการตรวจเสมหะน้ำลาย ใช้เวลารวดเร็วแต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการตรวจด้วย RT-pcr เพื่อความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มก้อนขนาดใหญ่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. มีนโยบายให้ค้นหาผู้ป่วยให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่มากขึ้น ขณะนี้สถานการณ์ของโรคในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทำให้มีผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันอยู่ในหลักสิบ และมีผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) รักษาหายกลับบ้านเพิ่มมากขึ้น

“การตรวจแล็บสามารถแยกตรวจ 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) กรมควบคุมโรคได้ปรับเกณฑ์/ขยายนิยามผู้ป่วย เพื่อให้ครอบคลุมการค้นหาผู้ติดเชื้อ ให้ประชาชนเข้าถึงเกณฑ์ตรวจมากขึ้น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รองรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.กลุ่มผู้สัมผัส ทั้งที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ กรมควบคุมโรครองรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active casr findind) เช่น จ.ภูเก็ต และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4.การค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ ดำเนินการโดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในพื้นที่เสี่ยงทั่วกรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ชุมชนบางเขนและคลองเตย รวมถึงพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วยก่อนหน้านี้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากการตรวจ4 กลุ่มนี้ ใช้วิธีการตรวจด้วยสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกด้วยวิธี RT-pcr และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาวิธีตรวจด้วยเสมหะน้ำลายที่มีข้อดีคือ 1.เก็บตัวอย่างง่ายกว่า เพราะเก็บตัวอย่างหลังโพรงจมูก จะต้องมีผู้อื่นเก็บให้ แต่การเก็บเสมหะน้ำลาย ผู้รับการตรวจ สามารถทำการเก็บได้เอง 2.ลดการใช้ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่มีจำนวนจำกัด แต่เพียงพอในการใช้ภายในประเทศไทย 3.ราคาถูกกว่านำสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและคอ (swab) มาตรวจด้วยวิธี RT-pcr และ 4.สามารถตรวจได้รวดเร็ว แม่นย้ำเทียบเท่ากับการตรวจด้วย RT-pcr ที่เป็นวิธีมาตรฐานการตรวจทั่วโลกได้ โดยวิธีการเก็บเสมหะน้ำลายตรวจ จะใช้กับ 3 กลุ่ม

“จาก 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้สัมผัส ทั้งเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ 2.กลุ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active casr findind) 3.กลุ่มค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และเป็นกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น 1.แรงงานต่างด้าว ที่อาศัยรวมกันแออัด เช่น พื้นที่ จ.สมุทรสาคร ภาคใต้ตอนบน รวมถึงในกรุงเทพฯ 2.สามารถใช้ตรวจกับผู้ที่มีความเสี่ยง แต่ไม่สะดวกที่จะออกมาตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน (RT-pcr) เช่น กลุ่มแรงงานจำนวนมาก กลุ่มสื่อมวลชน จึงให้ใช้การเก็บเสมหะน้ำลายด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการส่งตรวจและลดการใช้ทรัพยากรป้องกันเพื่อเข้าเก็บสารส่งตรวจ 3.ใช้ตรวจกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เพราะสถานที่รองรับมีจำกัด และจำนวนคนมีจำนวนมากและเข้ามามากพร้อมกัน ดังนั้นการเก็บด้วยเสมหะน้ำลาย จะช่วยลดขั้นตอน และลดการใช้อุปกรณ์การเก็บได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ได้ประยุกต์การเก็บตัวอย่างด้วยการเอาน้ำลายมาตรวจด้วยวิธีเดียวกับการเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกในการทำวิธี RT-pcr เพื่อลดการใช้ทรัพยากร/อุปกรณ์ป้องกันในการตรวจ และเพื่อให้กลุ่มที่ต้องเข้ารับการตรวจ สามารถตรวจได้ทันท่วงที สะดวกรวดเร็ว ราคาถูก เพื่อสามารถเข้าถึงการตรวจมากขึ้นก็จะทำให้ตรวจได้มากขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอย้ำว่าวิธีตรวจวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานคือ การเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกและลำคอด้วยการ swab เพื่อนำมาตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-pcr เพียงแต่ว่า ได้เอาวิธีการตรวจเสมหะน้ำลาย ที่มีข้อดีในการเก็บตัวอย่างได้ง่ายกว่าซึ่งเหมาะกับการใช้ในการตรวจผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น กลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก และการดำเนินการวิธีนี้สามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากการเก็บด้วยเสมหะน้ำลายสามารถเก็บได้เอง จึงจะประยุกต์การใช้วิธีนี้ในการตรวจเพื่อ 1.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก/กลุ่มก้อน ที่ต้องตรวจจำนวนมาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตรวจ 2.ตรวจในผู้ที่ยังไม่มีอาการ แต่อาจจะมีเชื้อไวรัส เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลต้องใช้ตรวจด้วยวิธีมาตรฐานคือ RT-pcr โดยในขณะนี้ประเทศไทยพัฒนาห้องแล็บที่มีถึง 125 ห้อง จึงต้องเน้นในการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานได้ง่าย ประชาชนเข้าถึงได้ จึงไม่ต้องตรวจด้วยเสมหะน้ำลาย แต่การเก็บด้วยเสมหะน้ำลายจะมีประโยชน์คือ เก็บได้ง่ายขึ้น มีรอบการตรวจได้มากขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายที่จะตรวจ แต่การตรวจจะขึ้นอยู่ในพื้นที่

“เกณฑ์ของการตรวจด้วยเสมหะน้ำลาย คือ 1.ขยายเกณฑ์ ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจ หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ไม่มีค่าใช้จ่าย สปสช. ประกันสังคม จะเป็นผู้รับผิดชอบ 2.ประชาชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ ก็จะแบ่งเป็น ผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หากแจ้งเจ้าหน้าที่ก็จะได้รับการตรวจ แต่จะตรวจด้วยวิธีไหนอยู่ที่แพทย์พิจารณา เช่น ผู้สัมผัสบางรายเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วต้องรีบกลับออกนอกประเทศ ก็จะเก็บด้วยเสมหะน้ำลาย ซึ่งเป็นวิธีเสริม และกรณีการพบผู้สัมผัสในจำนวนมาก เช่น กิจกรรมที่มีผู้สัมผัสเป็น 1 พันราย หากจำเป็นต้องตรวจทุกคน วิธีนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการตรวจ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่าย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับโจทย์ในการหาวิธีตรวจเชิงรุก(active casr finding) สำหรับประชาชนบางกลุ่ม ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ รวดเร็วว่องไว แต่จะต้องทบทวนรายละเอียดของการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า การตรวจทางห้องแล็บมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ซึ่งหากจะตรวจด้วยวิธีไหนต้องทราบธรรมชาติของโรคก่อน และโรคโควิด-19 เมื่อร่างกายได้รับเชื้อแล้ว ในระยะ 1-7 วัน จะเริ่มแสดงอาการ เรียกว่า ระยะฝักตัวของโรค ระยะ 7-14 วัน ถัดไปภูมิคุ้มกันร่างกายจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะตรวจหาเชื้อในผู้ป่วย จะมีหลักๆ อยู่ 2 วิธี คือ ตรวจหาเชื้อ โดยขณะนี้มีวิธีตรวจที่เป็นมาตรฐานคือ 1.ตรวจหาสารพันธุกรรม RT-pcr ซึ่งหลังจากที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและแสดงอาการ วิธีนี้เป็นการตรวจได้ไวที่สุด และเป็นมาตรฐาน 2.การตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือเรียกว่า rapid-test แต่ธรรมชาติของการเกิดโรคจะทราบว่า กว่าที่ผลการตรวจจะออกมาเป็นบวก ต้องใช้เวลาหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการไปแล้ว 7 วันขึ้นไป ถึงแม้วิธีการตรวจจะง่ายเพียงหยอดเลือดลงในแถบทดสอบ เป็นวิธีที่ทำง่ายแต่ระยะเวลาในการตรวจจับโรคจะช้ากว่า

นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้นหากต้องการตรวจเพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่กำลังแพร่เชื้อ การตรวจด้วย RT-pcr ยังเป็นวิธีมาตรฐานอยู่ แต่จะต้องหาวิธีที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในกลุ่มคนจำนวนมากได้ แม่นยำ คัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางกรมวิทย์ฯ จึงร่วมมือกับสถาบันบำราศนราดูร และกรมควบคุมโรค ได้ทำการทดสอบในการตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการนำเลือดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อด้วยการตรวจ RT-pcr ทำการเจาะเลือดเป็นระยะ พบว่า ผู้ป่วยที่ยืนยันแล้ว หลังจากที่มีอาการแล้ว ในระยะ 1-7 วัน นำไปตรวจภูมิคุ้มกันขึ้นแค่ ร้อยละ 17 ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยมีอาการแล้ว แต่ส่วนใหญ่การหาภูมิคุ้มกันร่างกายผลเป็นลบ และไม่ได้แปลว่าไม่มีการติดเชื้อ ในระยะ 8-14 วัน ขึ้น ภูมิคุ้มกันขึ้นร้อยละ 42 ในระยะหลัง 14 วันภูมิคุ้มกันขึ้นร้อย 85 จากการทดสอบพบว่า หลังจากมีที่อาการไปแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันร่างกายได้ดีและชัดเจน แต่ในหลักการแล้วเมื่อครบระยะเวลา 2 อาทิตย์ขึ้นไป เชื้อไวรัสก็จะหมดจากร่างกายไปด้วย ดังนั้นประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อด้วย rapid test มีไม่มากนัก คัดกรองคนกลุ่มใหญ่ได้ไม่มากเช่นเดียวกัน เป็นเหตุลที่องค์การอนามัยโลก(WHO) และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในการคัดกรองผู้ป่วย เพราะจะมีประโยชน์บางกรณีเท่านั้น

“คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ทั้งศิริราช รามา จุฬาลงกรณ์ ก็ยืนยันตรงกันว่า การตรวจด้วย rapid test ไม่ไว ตรวจจับโรคได้ช้ามาก ประโยชน์ในการคัดกรองและวินิจฉัยก็มีน้อย ตอนนี้วิธีการคัดกรองผู้ป่วยในการควบคุมโรคและเฝ้าระวัง ยังต้องใช้ตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี RT-pcr แต่ปัญหาคือ การตรวจวิธีนี้ ตรวจใช้การนำสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและลำคอ เวลาทำแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรและชุดป้องกัน PPE ต้องใช้ทรัพยากรในการตรวจมาก ดังนั้นโจทย์คือ จะทำยังไงให้การวิธีตรวจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการตรวจด้วยขากเสมหะในลำคอมาตรวจ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ทำแบบนี้ เช่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา พบว่าประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการตรวจด้วย swab ในคอและโพรงจมูก และประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ทำ เช่น ใน รพ.รามาธิบดี ซึ่งให้ผลใกล้เคียงกับการทำ swab ในโพรงจมูกและลำคอ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค สถาบันบำราศฯ ทดสอบในผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ เก็บเสมหะน้ำลายออกมาตรวจ พบว่าได้ผลค่อนข้างใกล้เคียงกับการ swab โพรงจมูกและลำคอ ดังนั้นการตรวจด้วยเสมหะน้ำลายจึงตอบโจทย์” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างส่งตรวจด้วยเสมหะน้ำลาย มีอุปกรณ์ดังนี้ 1.กระบอกเก็บเสมหะน้ำลาย 2.ถุงซิป 3 ถุง 3.พาราฟิน สำหรับพันปากกระบอกเก็บ 4.อาหารสำหรับไวรัส VTM โดยวิธีการเก็บคือ ผู้รับการตรวจ จะต้องตรวจสอบชื่อและนามสกุลที่กระบอกเก็บเสมหะน้ำลายว่าตรงกับชื่อของท่านหรือไม่ หลังจากนั้น 1.ผู้รับการตรวจจะต้องล้างมือให้สะอาด เปิดกระบอกและเทอาหารสำหรับเก็บตัวอย่างไวรัส VTM ลงในกระบอก 2.ขากเสมหะน้ำลายในลำคอส่วนลึก บ้วนลงในกระบอก ไม่สามารถใช้น้ำลายในกระพุ้งแก้มได้ เนื่องจากจะมีเชื้อไวรัสน้อยกว่าเสมหะในลำคอส่วนลึก 3.ทำการปิดฝากระบอกเก็บเสมหะน้ำลาย ล้างมือให้สะอาดพร้อมเช็ดให้แห้ง 4.พันปากกระบอกด้วยพาราฟิน 5.หลังจากนั้นก็นำกระบอกที่ปิดฝาเรียบร้อยแล้วใส่ถุงซิปชั้นที่ 1 ก่อนจะปิดปากถุงให้ล้างมือให้สะอาดก่อนจึงทำการรูดปิดถุงซิปนั้น 6.นำถุงชั้นที่ 1 ไปใส่ในถุงที่ 2 และ 3 ขั้นตอนสุดท้ายคือ 7.นำกระบอก เสมหะน้ำลายใส่กล่องรักษาอุณหภูมิที่มีต่อเจลเก็บความเย็นและนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะนำกระบอกเสมหะน้ำลายเข้าสู่ระบบการตรวจเช่นเดียวกับวิธีตรวจด้วย RT-pcr แต่แตกต่างกันเพียงสิ่งส่งตรวจที่ต่างกันเท่านั้น ที่เดิมใช้สารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและลำคอ เป็นการตรวจในเสมหะนำลายแทน ในการเก็บเสมหะน้ำลายในลักษณะเป็นที่รู้จักกันดีใน นพ.ซึ่งใช้เก็บในผู้ป่วยวัณโรค ที่เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจเช่นกัน ในคำแนะนำคือไม่ควรแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปาก รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ ก่อนทำการเก็บเสมหะน้ำลาย อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่ควรเก็บมากที่สุดคือหลังตื่นนอนทันที

นพ.โอภาส กล่าวว่า วิธีการตรวจหาเชื้อหลักยังใช้วิธีเดิมคือ RT-pcr ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนมาเก็บด้วยเสมหะน้ำลาย ดังนั้นในผู้ป่วยรายที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค(PUI) ยังต้องเก็บสารคัดหลั่งหลังโพร่ง
จมูกและลำคอ อย่างไรก็ตามการเก็บด้วยเสมหะน้ำลายมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหลังโพรงจมูก จากการทดสอบพบว่า การตรวจด้วย swab เอาสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและลำคอพบผู้ป่วย 100 ราย และการตรวจด้วยเสมหะน้ำลายพบผู้ป่วย 90 ราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น ความเข้าใจและความร่วมมือของผู้ป่วยในการเก็บเสมหะน้ำลาย จะต้องใช้การขากเสมหะ ซึ่งจะมีเชื้อจากหลังคอลงมา จะเจอเชื้อมากกว่าการถมน้ำลายในกระพุ้งแก้ม

นพ.อภิชาต กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันบำราศฯ ได้ทำการเก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วยด้วยการ swab ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ถึง 1 ใน 2 ของค่าตรวจรักษา และหากเราใช้วิธีการขากเสมหะน้ำลายของผู้ป่วยได้เอง ซึ่งมีการพิสูจน์จากกรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้วว่า สามารถใช้ได้ ในระยะต่อไป สถาบันบำราศฯ จะมีวิธีการใช้ให้ผู้ป่วยขากเสมหะน้ำลายออกมาเอง ซึ่งสามารถป้องกันและลดการสูญเสียการใช้ทรัพยากรได้มาก และสามารถตรวจได้จำนวนมากเนื่องจากไม่ต้องใช้อุปกรณ์ทรัพยากรในการเก็บเชื้อมาก และค่าใช้จ่ายในการตรวจก็จะลดลงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ยึดหลักการใช้วิธีการตรวจหลักที่เป็นมาตรฐานคือ RT-pcr

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง