ไบโอเทค เตรียมนำวัคซีนพ่นจมูกใช้เป็นบูสเตอร์ เข็ม 3 สู้โควิดกลายพันธุ์
ข่าววันนี้ (11 ส.ค.64) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. แถลงข่าวความคืบหน้าของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แบบพ่นจมูก ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว
ดร.อนันต์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำวัคซีนแบบพ่นจมูกนั้น เนื่องจากถือเป็นวัคซีนที่ใหม่ ใช้งานได้ง่าย รวมไปถึงมีการทำในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคซีนแบบพ่นจมูกของไบโอเทคนั้น ได้มีการทดลองตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พบว่า การฉีดวัคซีนที่กล้ามเนื้อนั้นมีปัญหา เพราะการฉีดวัคซีนที่กล้ามเนื้อ เป็นเพียงการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายในร่างกายเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการสร้างการป้องกันไวรัส ที่ใช้การเดินทางเข้าสู่ร่างกายผ่านทางโพรงจมูก
ดังนั้น การฉีดวัคซีนแบบพ่นจมูก จะสามารถแก้ไขปัญหาการติดเชื้อของไวรัสโควิค-19 จากทางโพรงจมูกได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะการสร้างแอนติบอดีบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและดีกว่าการฉีดวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ รวมถึงสามารถกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาวหรือ ทีเซลล์ ในทางเดินหายใจ ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบฆ่าเชื้อ สามารถสกัดกั้นไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อในระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างวัคซีนแบบพ่นนั้น ใช้จุดเด่นของการติดเชื้อของไวรัส ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางโพรงจมูกอยู่แล้ว มาทำการดัดแปลงไวรัสทั้งสองชนิด ได้แก่ ไวรัสชนิดอะดีโนไวรัส และวัคซีนชนิด influenza virus หรือการอาศัยไวรัสในรูปแบบของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีความสามารถในการก่อโรค แต่ให้คุณสมบัติของไวรัสทั้ง 2 ตัวเป็นตัวนำส่งไวรัสที่ดัดแปลงแล้วเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
จากการทดลองกับหนูทดลอง พบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อของหนูทดลอง โดยเฉพาะการฉีดพ่นทางจมูก สามารถสร้างแอนติบอดีให้กับหนูทดลองได้อย่างมีนัยยะสำคัญ คือ สามารถสร้างแอนติบอดีบริเวณระบบหายใจตอนบนได้เป็นอย่างดี นอกจากไม่มีอาการป่วย ยังมีน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนผ่านทางกล้ามเนื้อที่มีอาการเครียดและกินอาหารได้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลค่อนข้างสำคัญที่จะใช้ในการอ้างอิงต่อว่าวัคซีนในการฉีดพ่นทางจมูก น่าจะดีกว่าการฉีดทางกล้ามเนื้อ
ส่วนระยะเวลาของภูมิคุ้มกันที่จะอยู่ในร่างกายนั้น ถ้าหากฉีดวัคซีนเข้าไปแล้ว และไม่มีการติดเชื้อภูมิคุ้มกันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ แต่ในบริเวณของทางเดินหายใจตอนบน จะมีส่วนของเซลล์ที่จะกระตุ้นให้สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วัน ขณะที่การฉีดวัคซีนผ่านกล้ามเนื้อตัวที่เป็นเมมโมรี่เซลล์ต่างๆ จะอยู่บริเวณของร่างกาย
ดังนั้น การมี memory cell อยู่บริเวณโพรงจมูกซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับไวรัสเป็นจุดแรกก็จะสามารถป้องกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งวัคซีนดังกล่าวนั้นก็จะสามารถอยู่ได้ 3 ถึง 6 เดือนถ้ามีการบูตในการฉีดครั้งที่ 3 หรือการพ่นวัคซีนทางจมูกก็จะสามารถเพิ่มจำนวนของภูมิคุ้มกันกับขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง และรองรับการระบาดโดยเฉพาะไวรัสใหม่ๆ ได้ดีในอนาคต ซึ่งวัคซีนชนิดนี้สามารถที่จะเปลี่ยนเชื้อที่มีการกลายพันธุ์เข้ามาทำการทดลองได้เลย โดยในอนาคตสามารถนำสายพันธุ์เดลต้า เข้ามาทำเป็นเชื้อตายภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อนำมาฉีดป้องกันการติดเชื้อในอนาคตได้ทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์นั้น ทางที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนสายพันธุ์เดิมแต่มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องหาวิธีการฉีดกระตุ้นอย่างไรให้ภูมิคุ้มกันเกิดช้า เพราะเห็นได้ว่าวัคซีนแต่ละตัวที่มีการฉีดอยู่ในปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันตกค่อนข้างไว โดยเฉพาะวัคซีนเชื้อตาย ที่พบว่าภายใน 2-3 เดือน ภูมิคุ้มกันที่มีก็ลดลงมาแล้ว ดังนั้นการพ่นวัคซีนทางตรงจมูกนั้น ถือเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาตลอด จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างวัคซีนตัวใหม่หรือนำเข้าวัคซีนชนิดใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น
ส่วนหลอดสำหรับบรรจุวัคซีนที่ใช้นั้น สามารถใช้หลอดฉีดยาที่ไม่มีเข็มที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่เป็นการฉีดพ่นวัคซีนผ่านตัวทำละอองฝอยเข้าไปยังโพรงจมูก ซึ่งคาดว่าถ้าหากนำมาใช้จริงในประเทศไทยนั้น จะทำให้การใช้สะดวกไม่เจ็บปวด รวมถึงยังออกแบบมาเพื่อใช้กับเด็กโดยเฉพาะ และเหมาะกับผู้ที่กลัวเข็มฉีดยา โดยปริมาณที่ใช้นั้นจะใช้ในปริมาณที่น้อยเพียงแค่ 100 ไมโครลิตร ซึ่งในอนาคตหากสามารถพัฒนาหัวพ่นให้เป็นพลาสติก ก็จะทำให้มีต้นทุนที่ถูกลงเหลือเพียงหน่วยละ 30 - 100 บาทเพียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่การใช้นั้นอาจจะไม่สามารถให้ประชาชนสามารถซื้อหาไปใช้ได้ด้วยตนเอง เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาดในการใช้งานจนวัคซีนเสียคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการทดลองในขณะนี้นั้น ได้มีการทดลองกับสัตว์มาแล้ว 3-4 เดือน โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลยื่นเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพื่อที่จะขออนุญาตนำวัคซีนมาทดสอบกับมนุษย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการทดสอบนั้น เนื่องจากระยะเวลาในการวิจัยที่คาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จภายในปีหน้า จึงตั้งเป้าให้วัคซีนสำหรับพ่นโพรงจมูกใช้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ booster เป็นหลัก เพื่อให้กับบุคลากรหรือประชาชนที่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้วแต่ภูมิคุ้มกันตกลง ซึ่งวัคซีนแบบพ่นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกัน กลับขึ้นมาสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่ผ่านมาที่เกิดความล่าช้าในการวิจัยนั้น สาเหตุเนื่องเกิดอุบัติเหตุทางเทคนิค ทำให้ต้องเริ่มการทดลองใหม่อีกครั้งทั้งหมดกับสัตว์ทดลอง