รีเซต

สภาทองคำโลกเผยข้อมูล เม.ย. ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเพิ่ม

สภาทองคำโลกเผยข้อมูล เม.ย. ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเพิ่ม
ทันหุ้น
11 มิถุนายน 2567 ( 15:29 )
13
สภาทองคำโลกเผยข้อมูล เม.ย. ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำเพิ่ม

#ทองคำ #ทันหุ้น - สภาทองคำโลก (WGC) รายงานการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน

บทความโดย คริสชัน โกพอล

นักวิเคราะห์อาวุโส ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) สภาทองคำโลก

· ปริมาณการซื้อทองคำสุทธิเดือนเมษายน 2567รวมเป็น 33 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 3 ตันในเดือนมีนาคมหลังการปรับลดตัวเลข

· การซื้อทองคำของธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ได้ชดเชยผลกระทบจากการขายที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและไม่มีนัยสำคัญ

· สภาทองคำโลกเตรียมเผยรายงานผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางประจำปี 2567 ภายในเดือนมิถุนายนนี้

 

นายคริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์อาวุโส ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้ให้ความเห็นในบทความวิเคราะห์ด้านการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดคำถามหลายประการ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการทองคำที่ผลักดันให้ราคาพุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา จะมีพฤติกรรมการซื้อทองคำเปลี่ยนไปตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้นหรือไม่

 

จากการที่สภาทองคำโลกมีข้อมูลเดือนมีนาคมในปัจจุบันที่สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงได้รับข้อมูลเบื้องต้นของเดือนเมษายน ทำให้มีมุมมองต่อแนวทางของธนาคารกลางชัดเจนมากขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดจากการรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าปริมาณทองคำสำรองสุทธิ (Net Reserves) เพิ่มขึ้น 33 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่พบในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 27 ตัน1 แม้ว่ายอดการซื้อรวม (Gross Purchase) ได้ลดลงมาอยู่ที่ 36 ตัน จาก 39 ตันในเดือนมีนาคม แต่ยอดขายรวม (Gross Sales) นั้นลดลงอย่างอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยลดจาก 36 ตันเหลือเพียง 3 ตันในเดือนเมษายน

 

การซื้อสุทธิของธนาคารกลาง ฟื้นตัวในเดือนเมษายน

สภาทองคำโลกรายงานว่าธนาคารกลางจำนวนแปดแห่งได้เพิ่มปริมาณสำรองทองคำอย่างน้อยหนึ่งตันในเดือนเมษายนโดยมีธนาคารกลางตุรกีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้เพิ่มทุนสำรองอย่างเป็นทางการขึ้น 8 ตัน2 และซื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกัน ยอดซื้อสุทธิของธนาคารกลางตุรกีในปี 2567 ขณะนี้รวมอยู่ที่ 38 ตัน รวมการถือครองทองคำอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 578 ตัน นอกจากนี้แล้วธนาคารกลางคาซัคสถานได้เพิ่มทองคำสำรองอีก 6 ตัน ธนาคารกลางอินเดียจำนวน 6 ตัน ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์จำนวน 5 ตัน องค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์จำนวน 4 ตัน ธนาคารกลางรัสเซียจำนวน 3 ตัน และธนาคารแห่งชาติเช็กเพิ่มขึ้นจำนวน 2 ตันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ด้านธนาคารประชาชนจีนได้รายงานการซื้อทองคำที่ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยแจ้งว่าปริมาณทองคำสำรองเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 ตันในเดือนเมษายน รวมเป็นจำนวน 2,264 ตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ได้กลับมารายงานปริมาณถือครองทองคำในเดือนพฤศจิกายน 2565 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนก่อนเมษายนซึ่งเคยอยู่ที่ 18 ตัน

ด้านยอดขายรวมที่น่าสนใจจำกัดอยู่เพียงธนาคารกลางของประเทศอุซเบกิสถานและจอร์แดนเท่านั้น ทั้งสองประเทศรายงานว่ามีทองคำสำรองลดลง 1 ตัน ซึ่งเป็นอัตราการขายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

 

ความต้องการทองคำของธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่งในปี 2567

ปริมาณการซื้อ/ขายสุทธิ ตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไปของธนาคารกลาง ในปี 2567 นับจนถึงปัจจุบัน (Year to Date)*

นายคริสชัน โกพอล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในเดือนมีนาคมภายหลังจากที่ได้รวมรายงานการขายที่ล่าช้าของธนาคารกลางของฟิลิปปินส์จำนวน 12 ตันแล้ว พบว่ายอดซื้อสุทธิได้ปรับลดลงเหลือเพียง 3 ตัน และแม้ว่ายอดซื้อรวมของเดือนมีนาคมจะค่อนข้างคงที่ในสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดขายรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการขายจำนวนมากของธนาคารกลาง 4 แห่ง (รายงาน ณ ปัจจุบัน) สิ่งนี้แสดงให้เห็นโดยนัยว่าราคาอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของธนาคารกลางบางแห่งได้ในบางส่วน

 

นายคริสชันยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าการซื้อสุทธิได้ชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณในเดือนเมษายนเบื้องต้นอาจส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางได้มองข้ามราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น และดำเนินตามแผนการซื้อเชิงกลยุทธ์ต่อไป แน่นอนว่าเมื่อข้อมูลของเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมรายงานออกมาเพิ่มเติมจะช่วยให้แนวทางสำหรับการประเมิณว่าการซื้อทองคำของธนาคารกลางจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนทางสภาทองคำโลกจะเผยแพร่ผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางประจำปี 2567 (Central Bank Gold Survey 2024) ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของธนาคารกลางทั่วโลกต่อทองคำ และสิ่งที่จะส่งอิทธิพลต่อการซื้อทองคำในอนาคต

 

คำอธิบายเชิงอรรถ

1) อ้างอิงจากข้อมูลสถิติการเงินระหว่างประเทศ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF IFS) รายเดือน (ซึ่งรายงานล่าช้าสองเดือน) และข้อมูลจากธนาคารกลางที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม สถาบันส่วนใหญ่จะรายงานสถิติเป็นระยะประจำ แต่บางแห่งอาจรายงานผลล่าช้า ซึ่งบางครั้งตัวเลขที่รายงานล่าช้าอาจมีความสำคัญมาก ข้อมูลที่เปิดเผยล่าช้าเหล่านี้อาจนำไปสู่การปรับแก้ไขต่าง ๆ ได้ ข้อมูลที่รายงานในบทความนี้เป็นการแจ้งให้ทราบเท่านั้น และต่างจากการคาดการณ์ความต้องการของธนาคารกลางจากสภาทองคำโลก ที่ระบุในรายงานแนวโน้มอุปสงค์ทองคำ (Gold Demand Trends)

 

2) ทองคำสำรองของภาคทางการประเทศตุรกี คือผลรวมระหว่างการถือครองทองคำที่ธนาคารกลางเป็นเจ้าของและการถือครองทองคำของกระทรวงการคลัง ซึ่งเท่ากับปริมาณสำรองทองคำรวม ลบด้วยทองคำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาคการค้าที่ธนาคารกลางถือครองอยู่ (เช่น กลไกตัวเลือกทุนสำรอง (Reserve Option Mechanism: ROM) หลักประกัน เงินฝาก และสัญญาแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ) สามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการคำนวนเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง