ไทยยังร้อนระอุ! เปิดรายชื่อ 3 จังหวัดพบ "จุดความร้อน" มากสุด
GISTDA รายงานไทยยังร้อนระอุ! 3 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 1,786 จุด เปิดรายชื่อ 3 จังหวัดพบมากสุด
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รายงานจุดความร้อนในไทยวานนี้ลดลงอยู่ที่ 1,786 จุด น่าน สูงสุดอยู่ที่ 282 จุด PM2.5 ภาคเหนือยังน่าเป็นห่วง
GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 3 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อน 1,786 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ขึ้นนำอยู่ที่ 5,131 จุด , พม่า 2,489 จุด ,กัมพูชา 372 จุด, เวียดนาม 352 จุด และมาเลเซีย 8 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 834 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 611 จุด, พื้นที่เกษตร 172 จุด, พื้นที่เขต สปก. 93 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 71 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 5 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ น่าน 282 จุด ,แม่ฮ่องสอน 177 จุด และเชียงราย 133 จุด
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 วันนี้ทางภาคเหนือคงน่าเป็นห่วงมากเช่นเคย เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แบบรายชั่วโมง เมื่อเวลา 10:00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง และมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัด เชียงราย ที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 200 ไมโครกรัม ตามด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน หนองคาย เลย ควรสวมหน้ากากอนามัย และงดกิจกรรมภายนอกอาคารสถานที่เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่จะตามมา ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th หรือ ติดตามข้อมูลจาก https://fire.gistda.or.th/dashboard.html และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"
ข้อมูลจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ภาพจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)