ทำความรู้จักประเภทของ ใบขับขี่
สำหรับผู้ที่ต้องการทำใบขับขี่ คงจะอยากทราบกันบ้างว่าจริงๆ แล้ว ใบขับขี่มีกี่ประเภทกันบ้าง แล้วหากเราไปทำใบขับขี่รถยนต์แบบที่ใช้กันอยู่ต้องใช้ใบขับขี่ประเภทไหน หรือหากใครที่ทำงานรับจ้างขับรถบรรทุกต้องไปทำใบขับขี่ประเภทไหน แล้วหากต้องการไปขับรถยนต์ในต่างประเทศต้องสอบใบขับขี่ประเภทไหน ใบขับขี่แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และค่าบริการเขาคิดเท่าไหร่กันบ้าง วันนี้ trueID news มีเกร็ดความรู้ที่จะมาแบ่งปันกันให้ได้ทราบไว้ ก่อนที่จะไปทำใบขับขี่
ประเภทใบขับขี่
ประเภทของใบขับขี่ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามลักษณะของการใช้งาน คือ
1) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล
2) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท
โดยทั้ง 2 ประเภท นี้ มีความแตกต่างหรือความเหมือนกันอย่างไรกันบ้าง ดังนี้
ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล คือ การอนุญาตให้สามารถขับขี่เพื่อขนส่งส่วนบุคคล หรือใช้สำหรับโดยสารส่วนตัว โดยสามารถขับขี่ขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจส่วนตัวได้ แต่ต้องจำกัดน้ำหนักในการขนส่งอยู่ที่ 1,600 กิโลกรัม และ ต้องใช้สำหรับการขนส่งที่ไม่ใช่การรับจ้าง
ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท คือ ใบอนุญาตประเภทให้สามารถขับขี่เพื่อขนส่งได้ทุกประเภท ทั้งใช้สำหรับการขับขี่ขนส่งเพื่อการค้า หรือ ธุรกิจส่วนตัว และใช้ขนส่งเพื่อรับจ้าง หรือประกอบธุรกิจการขนส่งได้ เช่น การขนส่งคน การขนส่งสิ่งของ เป็นต้น
หากพิจารณาที่ความแตกต่างของใบขับขี่ทั้ง 2 ประเภท นั่นคือ ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล ไม่สามารถใช้ขับขี่เพื่อการรับจ้างได้ แต่ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท สามารถใช้ขับขี่เพื่อขนส่งส่วนบุคคลและรับจ้างได้ด้วย ว่ากันง่ายๆ คือใบขับขี่ประเภทหลังนี้จะได้เปรียบประเภทแรก และเหมาะกับผู้ที่ไม่มีกิจการของตนเอง และมีเอาไว้เพื่อไปรับจ้างคนอื่น นั่นเอง
ค่าธรรมเนียมใบขับขี่
จากข้างต้นเราจะเห็นว่า การแบ่งประเภทใบขับขี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการใช้งาน แต่ใบขับขี่ที่ได้ใช้จริงในปัจจุบันนี้ ได้ถูกแบ่งออกทั้งตามลักษณะการใช้งานและลักษณะของรถร่วมด้วย ดังนั้นจึงขอกล่าว โดยรวมเกี่ยวกับชนิดและค่าธรรมเนียมใบขับขี่ และอายุการใช้งานของใบขับขี่แต่ละประเภทไปพร้อมๆ กัน โดยได้แบ่งใบขับขี่ออกเป็น 11 ชนิด ดังตารางด้านล่าง
ชนิดของใบอนุญาตขับรถตาม พ. ร. บ รถยนต์ 2522 แบ่งออกเป็น 11 ชนิดดังนี้
เป็นประเภทย่อยๆ ดังกล่าวข้างต้นถึง 11 ประเภท ซึ่งในการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วๆ ไป จะอยู่ในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ซึ่งสำหรับผู้ที่ใบขับขี่รถยนต์ครั้งแรกต้องผ่านประเภทที่ 1 ก่อน ยกเว้นผู้ที่ต้องการขับรถยนต์เพื่อการสาธารณะ
ชนิดของใบขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ชนิดของใบขับขี่ | อายุ (ปี) | รถที่ใช้ในการขนส่งไม่ประจำทาง |
1. ใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว - ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว | 1 | 100 |
- ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว | 1 | 50 |
- ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว | 1 | 50 |
2. ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล | 5 | 500 |
3. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล | 5 | 250 |
4. ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ | 3 | 300 |
5. ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ | 3 | 150 |
6. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล | 5 | 250 |
7. ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ | 3 | 150 |
8. ใบอนุญาตขับรถบดถนน | 5 | 250 |
9. ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์ | 5 | 250 |
10. ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก (1) ถึง (9) | 5 | 100 |
11. ใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี (ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ) | 1 | 500 |
ผู้ประสงค์จะทำใบขับขี่แบบใหม่ (บัตรพลาสติก) จะต้องชำระค่าถ่ายรูปและพิมพ์บัตรฉบับละ 100
บาท
ข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก
++++++++++