"กาชาด" หวั่นปัญหาสุขภาพจิต "ฆาตกรเงียบ" คร่าชีวิตบุคลากรแพทย์ขณะสู้วิกฤตโควิด-19
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า กาชาดสากลเรียกร้องให้เพิ่มความสนับสนุนการดูแลด้านสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้มากขึ้น ในระหว่างการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก โดยอาจจะทำให้มีการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ผลจากภาวะความกดดันและการต้องแยกกักตัวเอง จากมาตรการเด็ดขาดรุนแรงที่นานาประเทศบังคับใช้เพื่อสกัดควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งทำให้ประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์
นายเจแกน ชาปาเกน เลขาธิการสหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (ไอเอฟอาร์ซี) กล่าวเรียกร้องในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคมว่า ความต้องการการสนับสนุนทางจิตสังคมมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับจากเริ่มเกิดวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตนเข้าใจดีว่าการให้ความสนับสนุนทางสุขภาพจิตแก่บุคลากรการแพทย์อาจไม่ได้เป็นวาระเร่งด่วนสูงมากในช่วงเวลานี้ที่เรากำลังพยายามต่อสู้ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ขอเน้นย้ำว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนนับหลายล้านคน
“ผมคิดว่านี่อาจเป็น “ฆาตกรเงียบ” หากการเอาใจใส่ดูแลต่อความต้องการด้านจิตสังคมและสุขภาพจิตไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ” เลขาธิการไอเอฟอาร์ซีกล่าว
ด้านฟรานเซสโก รอคคา ประธานไอเอฟอาร์ซี แสดงความเห็นพ้องในปัญหานี้ว่า ความเสี่ยงภัยของการฆ่าตัวตายมีเพิ่มมากขึ้นกับประชาชนที่กำลังแยกกักตัวเอง และว่า ภาวะความเครียดที่มีมากขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในด้านอื่นๆ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตามมา โดยอ้างถึงรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นขณะครอบครัวจำนวนมากกำลังรับมือกับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายใต้สภาวะแวดล้อมอันตึงเครียด
อย่างไรก็ตามรองเลขาธิการและประธานไอเอฟอาร์ซี ยอมรับว่ายังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่จะพิสูจน์ได้ถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตและการฆ่าตายที่กำลังเพิ่มขึ้น แต่กล่าวว่ากำลังมีการหารือในประเด็นปัญหานี้กับบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่้นๆที่เกี่ยวข้อง โดยนายรอคคากล่าวว่า เรารู้ว่านี่กำลังเป็นแนวโน้มสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ที่จะมีผลลัพท์ตามมาอย่างมากจากการแยกกักตัว ดังกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อหลายวันก่อนกับพยาบาลชาวอิตาลีรายหนึ่งที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายหลังจากตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยความหวั่นกลัวว่าตนจะไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น