รีเซต

วันนี้วันอะไร วันโรคหืดโลก ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม

วันนี้วันอะไร วันโรคหืดโลก ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2565 ( 23:06 )
108
วันนี้วันอะไร วันโรคหืดโลก ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 2 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันโรคหืดโลก” (World Asthma Day) โดยเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 จากโครงการริเริ่มเพื่อโรคหืดระดับโลก (Global Initiative for Asthma) ซึ่งกำหนดให้วันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมเป็นวันโรคหืดโลกเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้ใกล้ชิดและผู้ป่วยโรคหืด


โรคหอบหืด (Asthma) คืออะไร

โรคหอบหืด (Asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับภาวะผิดปกติของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมจะเกิดการหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมหนาขึ้น และสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง โดยในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต


โรคหืดหอบเกิดจากอะไร

ปัจจัยหลักในการเกิดโรคหืดหอบมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ 

1. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม   ผู้ป่วยโรคหอบหืดอาจมีอาการกำเริบเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ มลพิษในอากาศ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ สัมผัสอากาศเย็น ออกกำลังกายหักโหมเกินไป มีภาวะกรดไหลย้อน รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน สารกันบูดในอาหาร ความเครียด

2. ปัจจัยทางพันธุกรรม โรคหอบหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

 

อาการของโรคหอบหืด เป็นอย่างไร

ผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยหอบ โดยอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด และหลังจากสัมผัสปัจจัยกระตุ้น โดยอาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงมาก คือ ไออย่างเดียว มีอาการเป็นช่วงสั้น ๆ หอบนาน ๆ ครั้ง ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก เช่น หอบทุกวัน หรือมีอาการตลอดเวลาจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

 

การรักษาโรคหอบหืด ทำอย่างไร

การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืด หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจทำให้หลอดลมเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยจะต่ำกว่าปกติและหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร การรักษาโรคหอบหืดจึงควรกระทำแต่เนิ่นๆ


อย่างไรก็ตาม แนวทางในการรักษาโรคหอบหืดประกอบไปด้วย การรักษาภาวะอักเสบเพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง และการป้องกันอาการกำเริบด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


ยารักษาโรคหอบหืด ใช้ยาอะไร

ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดมีทั้งชนิดสูดพ่นและยารับประทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มยาควบคุมหรือระงับการอักเสบของหลอดลม เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (inhaled corticosteroids)

2. กลุ่มยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาขยายหลอดลมซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและขยายตัว จึงช่วยลดอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ยานี้ควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการและไม่มีผลในการลดอาการหลอดลมอักเสบ


การป้องกันโรคหอบหืด ทำได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคหอบหืด แต่การป้องกันและควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบนั้นสามารถทำได้และถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค โดยแพทย์จะค้นหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด เช่น สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง สภาวะอากาศ และให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เช่น กำจัดไรฝุ่นในบ้าน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงควันบุหรี่และควันต่างๆ เป็นต้น


ทั้งนี้ ผู้ป่วยเองสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ระวังหรือรักษาโรคกรดไหลย้อน เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผ่อนคลายตัวเองจากภาวะเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


ที่มาข้อมูล : bumrungrad  www.bumrungrad.com

ที่มาภาพ : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง