6 กลโกงมิจฉาชีพหลอกลงทุนคริปโตฯช่วงตลาดขาลง-จับตา บิทคอยน์ มีโอกาสร่วงได้อีกไหม?
ต้องยอมรับว่า บิทคอยน์ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นขาลงแบบสุดๆ ทำให้นักลงทุนหลายคนผิดหวังไปตามๆกัน ขณะเดียวกันราคายิ่งผันผวนหนักนักลงทุนอาจกำลังมองหาช่องทาง หรือวิธีการใหม่ ๆ ในการหารายได้หรือการคืนทุน ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสให้มิจฉาชีพใช้แฝงตัวเข้ามาเพื่อเสนอผลประโยชน์ให้หลงเชื่อเข้าไปลงทุนด้วย กลโกงเหล่านี้จะมาในรูปแบบไหนบ้าง ? ไปเช็กเลย!!
1. มีการการันตีผลตอบแทน
มุขแรกของบรรดามิจฉาชีพมักใช้จูงใจเหล่านักลงทุนเลยก็คือ “การการันตีผลตอบแทนแบบแน่นอนในทุก ๆ เดือน” ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือแม้แต่คริปโทเคอร์เรนซี ดังนั้นหากพบเจอคีย์เวิร์ด “การันตีผลตอบแทน” ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงทันที
2. ตัวเลขผลตอบแทนสูงเกินความเป็นจริง
เหล่ามิจฉาชีพจึงมักใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมที่จูงใจในเรื่องผลตอบแทนในการหลอกให้คนมาลงทุนด้วย ตัวอย่างเช่น นำเสนอว่าจะมีผลตอบแทนสูง ๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเช่น 100% - 200% ต่อปี แต่ด้วยตัวเลขที่แสนล่อตาล่อใจ ทำให้มีผู้หลงเชื่ออยู่จำนวนไม่น้อย แต่ดยปกติแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนทั่ว ๆ ไปนั้นไม่ควรจะอยู่สูงเกิน 10% ต่อปี หากมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าข่ายเป็นพวกมิจฉาชีพแน่นอน
3.ต้องเชิญผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วยคล้ายแชร์ลูกโซ่
โมเดลการทำกำไรของมิจฉาชีพแบบง่าย ๆ แบบไม่ต้องลงแรงเลยคือการหลอกให้เหยื่อไปหาเหยื่อคนอื่นมาเพิ่มอีกให้ตัวเองได้กินเงินแบบฟรี ๆ ต่อนั่นเอง โดยมิจฉาชีพจะมีกลโกงสารพัดรูปแบบมาใช้หลอกเหล่านักลงทุน อาทิ การหลอกระดุมทุนผ่านโปรเจกต์ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเป็นการเสนอขายเหรียญครั้งแรก มิจฉาชีพจะกดดันให้เหยื่อที่ลงทุนอยู่แล้วต้องเชิญผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วยเยอะ ๆ เพื่อให้บริษัทมีทุนไปพัฒนาเหรียญต่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าหากชวนเพื่อนมาจะได้ผลตอบแทนเพิ่ม แต่เมื่อได้เงินมากพอตามที่ต้องการก็ชิ่งปิดโปรเจกต์หนีไปดื้อ ๆ เลยก็มี ดังนั้นก่อนลงทุนใด ๆ ควรตรวจสอบให้ดีอย่างถี่ถ้วน สำหรับการระดมทุนผ่านโปรเจกต์ ICO ในประเทศไทยนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.
4. ข้อมูลและเอกสารบริษัท ไม่มีความชัดเจน
การพยายามสร้างโปรไฟล์บริษัทให้ดูดี น่าเชื่อถือ แต่เมื่อถามหาเอกสารยืนยันอย่างอื่น เช่น งบการเงิน ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือเอกสารว่าใครเป็นเจ้าของมักไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะบริษัทเหล่านี้สร้างตัวตนปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวง นักลงทุนทุกคนจึงควรตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทที่ตนสนใจให้แน่นอนก่อนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
5.เร่งให้ตัดสินใจลงทุนก่อนเสียโอกาส
เทคนิคยอดนิยมที่มิจฉาชีพใช้เพื่อดึงเงินออกจากกระเป๋าของเราให้เร็วที่สุดก็คือการกดดัน เร่งรัด พูดหว่านล้อมให้รีบตัดสินใจลงทุนก่อนพลาดโอกาสรวย หรือเรียกอีกอย่างว่าเทคนิคการขายแบบ FOMO (Fear of Missing Out) ตัวอย่างคีย์เวิร์ดยอดฮิตที่ขาดไม่ได้ อาทิ “รับจำนวนจำกัด รีบสมัครด่วน ๆ ” หรือ “สมัครรอบหน้าได้ผลตอบแทนลดลง” ซึ่งถือเป็นการฉวยโอกาสจากความไม่รู้ของคนเพื่อตัดโอกาสไม่ให้เหยื่อไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาคนรอบข้างให้ดีเสียก่อนนั่นเอง
6.ใช้โฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง
หลายคนอาจจะเคยเห็นคนที่มาชวนไปลงทุนจะมีการถ่ายรูปคู่บ้านหรูหรือรถสปอร์ตคาร์สุดแพง พร้อมคำขอบคุณที่ได้รับการชวนมาลงทุน หรือบอกว่าใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่กลับให้ผลตอบแทนมหาศาลขนาดขนาดที่ว่ามีเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถได้ พร้อมปิดท้ายด้วยสโลแกนเชิญชวน “อยากรวยแบบนี้รีบสมัครเลย” หรือ “ใคร ๆ ก็ลงทุนได้ ไม่จำกัดอายุ” ให้คิดไว้เสมอว่า เป็นกลโกงสุดคลาสสิคที่แก๊งมิจฉาชีพชอบใช้เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งบุคคลในโฆษณาต่างเป็นหน้าม้า ดังนั้นหากพบเจอโฆษณาแบบนี้ที่ไหน ควรหลีกเลี่ยงอย่าไปลงทุนเด็ดขาด
ราคาบิทคอยน์จะมีโอกาสฟื้นตัวไหม
แน่นอนว่าบรรดาแฟนพันธุ์แท้ บิทคอยน์ ก็ยังคงฝ้ารอโอกาสที่ราคาจะดีดกลับมาได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาตลาดคริปโตฯซบเซามาก นอกเหนือจากบิทคอยน์ เหรียญอื่นๆก็ลดลงตามไปด้วย
บิทคับออนไลน์ เปิดเผยบทวิเคราะห์ว่า บิทคอยน์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทะลุผ่านแนวต้านของกรอบ สามเหลี่ยม และเส้นค่าเฉลี่ย 20 วันแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล (EMA-20) ที่ระดับ ราคา $21,233 (~762,000 บาท) ในวันที่ 7 ก.ค. สะท้อนภาพโมเมนตัมเชิงบวก กําลังกลับมา ขณะเดียวกันเส้น EMA-20 เพียงเพิ่งเริ่มหักหัวขึ้น และดัชนีความ แข็งแรงสัมพัทธ์ (RSI) ยังอยู่ตํ่ากว่าค่ากลางดังภาพ สะท้อนว่าแรงเทขายใน ระยะใกล้ ๆ นี้ยังมีไม่มากจากสัญญาณทางเทคนิค
โดยหากราคาสามารถยืนอยู่เหนือเส้นแนวต้านที่ทะลุขึ้นมาได้จริง โมเม นตัมเชิงบวกจะกลับมา และราคามีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่ เส้นค่า เฉลี่ย 50 วันแบบง่าย (SMA-50) ที่ $25,015 (~898,000 บาท) และแนวต้าน จากแพทเทิร์นถัดไปที่ $26,490 (~951,000 บาท) ในทางกลับกัน หากราคาในสัปดาห์นี้พลิกกลับมาหลุดแนวต้านเดิมที่ เส้น EMA-20 และกลับเข้าสู่กรอบสามเหลี่ยมเดิมอีกครั้ง จะตามมาด้วยแรง ขายกดดันราคาลงไปทดสอบแนวรับของกรอบสามเหลี่ยมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ก.ล.ต. เองก็ได้มีการประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลอีกครั้ง เมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีเงินทุนที่พร้อมและมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตลาดเพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขาย และเพิ่มความยืดหยุ่น พร้อมจัด focus group หารือกับผู้ประกอบธุรกิจและเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป
โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้า เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขายและความน่าเชื่อถือในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่น โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงินทุนแรกเข้าในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอรองรับการลงทุนในระยะแรกเริ่มและสะท้อนความตั้งใจจริงในการประกอบธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ประเภทศูนย์ซื้อขายให้เพิ่มทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วเป็น 100 ล้านบาท จากปัจจุบัน 50 ล้านบาท นายหน้าซื้อขายเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท จากปัจจุบัน 25 ล้านบาท และผู้ค้าเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท จากปัจจุบัน 5 ล้านบาท
(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน โดยกำหนดโครงสร้างเงินกองทุนตามความเสี่ยง (risk-based)เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอรองรับการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจให้กับผู้เกี่ยวข้อง สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ซื้อขายได้อย่างเหมาะสม เช่น ปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน hot wallet ให้รองรับความเสี่ยงทั้งจำนวน และปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน cold wallet ให้สะท้อนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
(3) ปรับปรุงสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า โดยในกรณีที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้ามูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท สามารถเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าใน hot wallet ได้ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำรงสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า โดยยังคงให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเงินทุนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขาย
(4) ปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การดำเนินการเมื่อเงินกองทุนลดลงจนถึงระดับขั้นต่ำ (minimum requirement) และการยกเลิกหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนที่ไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจ
สำหรับผู้ยื่นขออนุญาตรายใหม่หลักเกณฑ์ที่กำหนดจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรายปัจจุบัน คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้ทยอยปรับเพิ่มทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วสำหรับการประกอบธุรกิจและปรับปรุงอัตราการดำรงเงินกองทุนใน hot wallet ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาในการปรับตัว โดยก.ล.ต. จะหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกับผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบ focus group ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชนต่อไป
ย้ำเตือนกันอีกครั้งสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ละเอียดทุกครั้ง เพื่อประเมินดูความสามารถในการลงทุนของตนเองอีกทั้งเพื่อให้การลงทุนนั้นมีประสิทธิภาพ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในอนาคต
*ข้อมูลนี้ไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล **การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงุทนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ข้อมูลจาก : ก.ล.ต. , บิทคับออนไลน์,https://th.investing.com/
ภาพจาก : AFP