รีเซต

"นายกฯ" ชื่นชม “สุทธิพงษ์” ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลก หนุนจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์ไทย

"นายกฯ" ชื่นชม “สุทธิพงษ์” ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลก หนุนจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติชน
15 มิถุนายน 2565 ( 09:10 )
114
"นายกฯ" ชื่นชม “สุทธิพงษ์” ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลก หนุนจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์ไทย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชื่นชมพร้อมกับแสดงความยินดีที่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ ชาวไทย ที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดรางวัลออสการ์อาหารโลก หรือ กูร์มองต์ อวอร์ด (Gourmand Awards) ประจำปี 2565 ที่ประเทศสวีเดน

 

การประกวด กูร์มองต์ อวอร์ด ในประเทศสวีเดนครั้งนี้ เป็นเวทีการแสดงออกถึงความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร  เปิดโอกาสให้หน่วยงานจากทั่วโลกที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านอาหารและเครื่องดื่ม ทุกองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชนและงานอิสระส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ว่าสิ่งที่ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่มีความยั่งยืนและมีมาตรฐานสากลเพียงใด

 

โดยนายสุทธิพงษ์ ได้ส่งผลงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารเข้าประกวด 7 ผลงาน และได้รับรางวัลใน 2 ผลงาน ประกอบด้วย 1) ประเภท Local – Cities  ได้รับรางวัลที่ 2 ของโลก จากผลงานอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ ที่จัดทำการวิจัยโดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง  ส่วนรางวัลที่1 ในประเภทนี้เป็นของผลงานจากอังกฤษ และอันดับ3 จากออสเตรีย  และ 2) ประเภท Fruits – Celebrating UN International year of fruit ได้รับรางวัลที่ 2 ของโลก โดยรางวัลที่1 เป็นผลงานจากอาเจนตินา และอันดับที่3 จาก คอสตาริกา

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการที่คนไทยได้รับรางวัลในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่องนี้จะมีส่วนสำคัญที่สนับสนุนจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านอาหารที่ปัจจุบันอาหารไทยก็เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับระดับโลก ส่วนรับรางวัลครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความมีมาตรฐานสากลของอาหารท้องถิ่นของไทยด้วย

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่อาหารไทยระดับท้องถิ่นได้รับการยอมรับ จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่จะยกระดับการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนให้มีมาตรฐานในระดับสากลด้วย ซึ่งทราบว่าปัจจุบันคุณสุทธิพงษ์ ได้ริเริ่มพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ที่อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ และใช้ความรู้ด้านอาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่องของชุมชนและดึงดูดการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มได้จากภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นต้นแบบให้กับหลายชุมชน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง