รีเซต

อุทยานแห่งชาติแคลิฟอร์เนีย ใช้ "แผ่นฟอยล์" พันรอบต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ป้องกันไฟป่า

อุทยานแห่งชาติแคลิฟอร์เนีย ใช้ "แผ่นฟอยล์" พันรอบต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ป้องกันไฟป่า
TNN ช่อง16
20 กันยายน 2564 ( 17:42 )
110
อุทยานแห่งชาติแคลิฟอร์เนีย ใช้ "แผ่นฟอยล์" พันรอบต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ป้องกันไฟป่า

หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในแคลิฟอร์เนีย ที่นักท่องเที่ยวต้องได้ไปชมกันสักครั้ง คืออุทยาแห่งชาติซีคัวยาและคิงส์แคนยอน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของต้นไม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รู้จักกันในชื่อ ต้นสนซีคัวยา "นายพลเชอร์แมน" นั่นเอง




สนซีคัวยาจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และผ่านการวิวิฒนาการมาอย่างยาวนาน โดยนายพลเชอร์แมนมีความสูง 84 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบฐาน 31 เมตร ด้วยความอลังการของมันจึงกลายเป็นจุดสนใจให้ผู้ที่รักธรรมชาติเข้ามาเยี่ยมชม และสร้างรายได้ให้กับอุทยานเพื่อนำเงินไปบำรุงต้นไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ต่อไป


แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าลุกลาม เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เร่งให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน (Heat Wave) เป็นปัจจัยให้เกิดไฟป่าได้ง่ายกว่าปกติ หากปล่อยไว้สักวันหนึ่งอาจไม่มีต้นไม้เจ้าของสถิติโลกนี้อีกต่อไป



ดังนั้น เจ้าหน้าที่ในอุทยานจึงใช้วิธีการห่อฟอยล์อลูมิเนียม รอบ ๆ ฐานของต้นสนซีคัวยาในอุทยานให้ได้มากที่สุด รวมถึงต้นสนเจ้าของสถิติโลกด้วย ซึ่งเชื่อว่าแผ่นฟอยล์เหล่านี้จะช่วยลดความร้อนและป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าระงับเหตุได้ทันเวลาด้วย นอกจากนี้ยังได้ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ต้นสนให้บ่อยขึ้น เพราะใบไม้แห้งจะเป็นเชื้อเติมไฟชั้นดีเลยล่ะ


ก่อนหน้านี้ทางอุทยานได้รับรายงานเกี่ยวกับไฟไหม้ เมื่อวันที่ 9 และ 16 กันยายนที่ผ่านมา แต่เป็นการลุกลามเพียงเล็กน้อยจึงสามารถเข้าระงับเหตุได้ทัน แต่เนื่องจากอุทยานมีพื้นที่กว้างขวาง การสังเกตร่องรอยของการเกิดไฟไหม้ทางอากาศอาจไม่เพียงพอ (เพราะลักษณะของควันไฟอาจสับสนว่าเป็นเมฆได้) ดังนั้น การป้องกันอีกชั้นด้วยการห่อฟอยล์ให้ต้นไม้ จะช่วยยืดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟได้ดีมากขึ้น อย่างน้อยก็เพิ่มโอกาสให้ต้นไม้ยักษ์เหล่านี้ยังมีชีวิตสืบต่อไป


จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งผลเสียต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ แม้กระทั่งต้นไม้เก่าแก่อายุกว่า 2,000 ปี อาจจะโค่นและสูญสลายไปเพราะไฟป่าเพียงชั่วพริบตาได้ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Iflscience


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง