รีเซต

‘เดอะมอลล์’ เชื่อยืดเคอฟิวส์ 1 ชั่วโมง เอื้อร้านอาหาร-ค้าปลีก เพิ่มยอดขายเพียบ

‘เดอะมอลล์’ เชื่อยืดเคอฟิวส์ 1 ชั่วโมง เอื้อร้านอาหาร-ค้าปลีก เพิ่มยอดขายเพียบ
มติชน
15 พฤษภาคม 2563 ( 08:37 )
471
‘เดอะมอลล์’ เชื่อยืดเคอฟิวส์ 1 ชั่วโมง เอื้อร้านอาหาร-ค้าปลีก เพิ่มยอดขายเพียบ

 

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า จากข้อเรียกร้องให้ขยายเวลามาตรการเคอฟิวส์เป็น 23.00-04.00 น. จากเดิม 22.00-04.00 น. เบื้องต้นประเมินว่า หากสามารถขยายเวลาเพิ่มเติมได้ จะช่วยในมุมร้านอาหารและค้าปลีกได้ เนื่องจากการใช้บริการในร้านอาหาร สามารถทำได้นานขึ้น หรือสามารถสั่งมื้อเย็นได้นานกว่าเดิม ส่วนในมุมของค้าปลีก จะช่วยให้พนักงานที่ทำงานเสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้สะดวกมากขึ้น ไม่เร่งรีบจนเกินไป เนื่องจากห้างกำหนดเวลาปิดบริการไว้ที่ 20.00 น. เพื่อให้พนักงานมีเวลาเดินทางกลับที่พัก 2 ชั่วโมง

 

“หากมีเวลาเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง ก็จะทำให้พนักงานมีเวลาใช้เดินทางเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากห้างไม่สามารถปิดเท่ากับเวลาเคอฟิวส์ ต้องปิดก่อน เพื่อให้พนักงานมีเวลากลับบ้านอยู่แล้ว รวมถึงจะช่วยให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการมีเวลามากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่จะเลิกงาน 18.00 น. และใช้เวลาในการเดินทางไปห้างพอประมาณ ซึ่งการเคอฟิวส์ที่ 22.00 น. ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เสี่ยงในการเดินทาง เพราะกลัวจะกลับบ้านไม่ทัน หากเพิ่มเวลามากขึ้น การใช้บริการก็ทำได้มากขึ้นตาม” นางสาววรลักษณ์กล่าว

 

นางสาววรลักษณ์กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 อีกด้านคือ การที่ห้างจะต้องพยายามบริหารพื้นที่ของร้านค้าและร้านอาหารในห้าง ให้ดีมากขึ้น เพราะร้านอาหารไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ในการให้บริการในขนาดเดิมได้แล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ซึ่งหากพิจารณาในมุมร้านอาหาร ที่ผ่านมา ยอดขายก็ตกลงมากอยู่แล้ว อาทิ หากเคยนั่งได้ 20 คน ตอนนี้จะสามารถนั่งได้เพียง 10 คน ยอดขายและคนเข้าใช้บริการก็จะหายไปด้วย การเพิ่มเวลาใช้บริการมากขึ้น จึงจะช่วยเรื่องยอดขาย และการมาใช้จ่ายของลูกค้าได้

 

นางสาววรลักษณ์กล่าวว่า ธุรกิจหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายส่วน เพราะช่วงที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน มีการใช้เวลาเหล่านั้นทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป เน้นการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น สินค้าที่มีในสต็อก หากไม่ใช่สินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต ก็ต้องหาวิธีทำอย่างไร ให้ขายสินค้าเหล่านั้นได้ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง