รีเซต

ศรีสุวรรณ ระบุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ต้องส่งคืน ถ้ารับไว้โดยสุจริต ชี้ขาดอายุความไปแล้ว

ศรีสุวรรณ ระบุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ต้องส่งคืน ถ้ารับไว้โดยสุจริต ชี้ขาดอายุความไปแล้ว
ข่าวสด
30 มกราคม 2564 ( 11:43 )
134
ศรีสุวรรณ ระบุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ต้องส่งคืน ถ้ารับไว้โดยสุจริต ชี้ขาดอายุความไปแล้ว

นายศรีสุวรรณ จรรยา ระบุถึงปัญหา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เผย ไม่ต้องส่งคืน ถ้ารับไว้โดยสุจริต ชี้ ไม่มีสิทธิ์ฟ้อง คดีขาดอายุความไปแล้ว

 

วันที่ 30 ม.ค.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบพบว่ามีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญไปพร้อมกัน มีจำนวนกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้สูงอายุเพื่อทวงคืนเงินทั้งหมดส่งกลับกรมบัญชีกลาง เป็นลาภมิควรได้จนกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อผู้สูงอายุนั้น

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุในขณะนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากตามหลักกฎหมายว่าด้วย เป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 412 ระบุว่าเมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน เท่านั้นและใน มาตรา 419 ระบุว่าลาภมิควรได้ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น

 

ดังนั้นการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ เป็นการดำเนินการของรัฐบาลผู้เสียหาย คือ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.2552 แล้ว รวมระยะเวลากว่า 11 ปี

 

และกระทรวงการคลังเริ่มมีการตรวจพบปัญหาความซ้ำซ้อนดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 และต่อมากรมบัญชีกลางก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้แจ้งจังหวัด อำเภอและท้องถิ่นต่าง ทวงถามการขอเงินคืนไปยังผู้สูงอายุต่างๆที่รับเงินซ้ำซ้อนดังกล่าว ซึ่งอาจเกินระยะเวลา 10 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานอีกว่านางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้แถลงเองว่าเหตุผลที่เพิ่งตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่การจ่ายเงินคนชราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 เพราะการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าว เพิ่งจะมีการเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2563 ดังนั้นข้อมูลที่พบว่ามีการรับเงิน 2 ทาง คือ ทั้งเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญจึงเกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่ากรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง เริ่มรับรู้ถึงความเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี หรือเกินระยะเวลา 10 ปีไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืน เพราะขาดอายุความไปแล้ว

 

และยังมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 10850/2559 ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412 ดังนั้นการที่กรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินดังกล่าว จึงใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง