รีเซต

18 มิถุนายน 1983 ภารกิจ STS-7 แซลลี่ ไรด์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

18 มิถุนายน 1983 ภารกิจ STS-7 แซลลี่ ไรด์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2566 ( 22:28 )
84
18 มิถุนายน 1983 ภารกิจ STS-7 แซลลี่ ไรด์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

18 มิถุนายน 1983 วันนี้เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน นักบินอวกาศแซลลี่ ไรด์ (Sally Ride) นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาเดินทางขึ้นสู่อวกาศในภารกิจ STS-7 กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์พร้อมนักบินอวกาศทั้งหมดรวม 5 คน นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาส่งนักบินอวกาศผู้หญิงขึ้นสู่อวกาศหลังจากนักบินอวกาศวาเลนตีนา เตเรชโควา นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหภาพโซเชียตเดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1962


นักบินอวกาศแซลลี่ ไรด์ (Sally Ride) เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1951 ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกในโครงการนักบินอวกาศสำหรับกระสวยอวกาศของนาซาจากผู้สมัครมากว่า 8,079 คน โดยแซลลี่ ไรด์ (Sally Ride) เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศ 20 คน ชุดสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือก


สำหรับภารกิจ STS-7 ออกเดินทางขึ้นจากฐานปล่อยเวลา 07.33 น. ของวันที่ 18 มิถุนายน 1983 ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา นักบินอวกาศในภารกิจ 5 คน ประกอบด้วยนักบินอวกาศโรเบิร์ด คริปเพน (Robert Crippen), นักบินอวกาศเฟรดเดอริค ฮอค (Frederick Hauck), นักบินอวกาศจอห์น เอ็ม. ฟาเบียน  (John M. Fabian), นักบินอวกาศแซลลี่ ไรด์ (Sally Ride) และนักบินอวกาศนอร์แมน ธาการ์ด (Norman Thagard) 


ภารกิจทั้งหมดมีกำหนดการ 6 วัน 2 ชั่วโมง โคจรรอบโลก 97 รอบ ในภารกิจนี้นักบินอวกาศโรเบิร์ด คริปเพน (Robert Crippen) เคยเป็นหนึ่งในนักบินอวกาศชุดแรกของภารกิจกระสวยอากาศ STS-1 การทดสอบส่งกระสวยอวกาศขึ้นสู่อวกาศในปี 1981


ภารกิจ STS-7 ประสบความสำเร็จปล่อยดาวเทียม 2 ดวง จากกระสวยอวกาศ ได้แก่ ดาวเทียม Anik C2 ของประเทศแคนาดา และดาวเทียม Palapa B1 ของประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีภารกิจอื่น ๆ เช่น นักบินอวกาศได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลหะผสมในสภาวะไร้น้ำหนัก การทำงานของท่อความร้อนบนอวกาศ เครื่องสังเกตการณ์ระยะไกล การใช้แขนหุ่นยนต์ Canadarm ติดตั้งกล้องถ่ายภาพยานอวกาศ การบรรทุกถังก๊าซ (Getaway Special) จำนวน 7 ถัง เพื่อทดลองบนอวกาศ


ภายหลังเสร็จสิ้นการทำภารกิจทั้งหมดกระสวยอวกาศได้เดินทางกลับโลกและลงจอดบริเวณฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1983 อย่างปลอดภัย แม้ว่าในระหว่างการทำภารกิจบนอวกาศจะเกิดข้อผิดพลาดและอันตรายเกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น การหลุดของแผ่นโฟมจากถังเชื้อเพลิง หน้าต่างบานหนึ่งของกระสวยอวกาศแตกเป็นรอยร้าวจากการชนของเศษขยะอวกาศที่โคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูง


ที่มาของข้อมูล Wikipedia.org 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง