รีเซต

สธ.กระชับพื้นที่คุมโควิดในกรุง ยกระดับ 4 มาตรการใหญ่ ฉีดวัคซีนสูงวัย 7 โรคเสี่ยง-ค้นหาผู้ป่วย

สธ.กระชับพื้นที่คุมโควิดในกรุง ยกระดับ 4 มาตรการใหญ่ ฉีดวัคซีนสูงวัย 7 โรคเสี่ยง-ค้นหาผู้ป่วย
มติชน
5 กรกฎาคม 2564 ( 15:44 )
47
สธ.กระชับพื้นที่คุมโควิดในกรุง ยกระดับ 4 มาตรการใหญ่ ฉีดวัคซีนสูงวัย 7 โรคเสี่ยง-ค้นหาผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การระบาดครั้งนี้ จะเห็นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโรค อย่างไรก็ตาม การระบาดยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัด ก็เป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น แม้จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแต่จังหวัดต่างๆ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีและสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้ ทั้งนี้ สธ. ไม่มีอำนาจโดยตรงในการดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก สธ.จึงเข้ามาช่วยเหลือดูแลกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีนโควิด-19 เพื่อการควบคุมโรคให้เร็วที่สุดและช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

 

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการรักษาพยาบาล สธ.สั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าอื่นๆ ในพื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อจำนวนน้อย เข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม ซึ่งมี 3,700 เตียง ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางไปจนถึงอาการมาก ซึ่งหากอาการรุนแรงมากก็จะมีการส่งต่อไปโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้ เราได้ร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เปิดเตียงไอซียูอีก 24 เตียง และร่วมกับภาคเอกชนเปิดเตียงไอซียู ที่ รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 58 เตียง โดยมีบุคลากร จากวชิระพยาบาล รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วย

 

 

 

สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้เสนอมาตรการปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น โดย 4 มาตรการใหม่ ได้แก่ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2.ปรับระบบรักษาดูแลผู้ป่วย 3.มาตรการวัคซีน และ 4.มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ โดยทันที เพื่อพยายามควบคุมโรค ให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง ทั้งนี้ มีการใช้มาตรการแนวทางแยกกักที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งจะมีระบบดูแลรักษาผู้ป่วย เราจะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย แต่หากมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อตามระบบต่อไป

 

 

 

ด้านมาตรการวัคซีน สธ. ประกาศนโยบายฉีดวัคซีน ใน 1.การฉีดวัคซีนกระตุ้น (booster dose) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าใน รพ. ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นสำหรับการป้องกันไวรัส โดยเฉพาะสายกลายพันธุ์ หรือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) หรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมา เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศให้เดินหน้าบริการให้ประชาชนต่อไปได้ แต่การฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างไร ก็ขอให้เป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการในการใช้วัคซีน จกาฝ่ายวิชาการที่มีอยู่ แต่จะให้เร่งให้ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

 

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า นโยบายการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำว่า วัคซีนที่มีในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเทให้กับ 2 กลุ่มนี้ ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนตามนโยบายปูพรมก็จะลดลง แต่จะฉีดในกลุ่มเฉพาะมากขึ้น มุ่งเน้นการฉีดเพื่อการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งจะวางมาตรการลงไป เช่น เฝ้าระวังการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนเข้าไปในพื้นที่ระบาด เพื่อการควบคุมโรคให้ดีขึ้น ลดจำนวนการติดเชื้อ และลดการติดเชื้อในกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรงและอาการหนักต่อไป อย่างไรก็ตาม เดือนต่อไป ก็จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้มากที่สุด

 

 

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคจะมี 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่ต่างจังหวัด ยังใช้มาตรการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังติดเชื้อไม่มาก จะต้องเฝ้าระวังในผู้ป่วยที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ที่เข้ารักษาใน รพ. การใช้มาตรการป้องกันตัวเอง DMHTT สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และการคัดกรอง มาตรการค้นหาผู้ป่วย เพื่อสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ และใช้มาตรการค้นหาเชิงรุก ดังนั้น เป็นการยกระดับมาตรการเดิมที่มีอยู่ให้มีความเข้มข้นขึ้น

 

 

 

2.พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนที่เป็นศูนย์กลางระบาด ดังนั้น มาตรการเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีการปรับให้สอดคล้องมากยิ่งขึ้น เน้นไปที่การป้องกันโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยความสงสัยติดเชื้อที่มีโอกาสเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค โดยจะมีฟาสแทร็ก (Fast tack) ให้กับ 2 กลุ่มนี้ เพื่อให้ได้รับการตรวจให้เชื้อและการรักษาใน รพ.ทันที เพื่อลดอาการป่วยและเสียชีวิต สำหรับกลุ่มอื่นที่ยังไม่มีอาการ ที่เป็นวัยหนุ่มสาวอัตราการป่วยหนักน้อยกว่า จะให้ใช้วิธีการตรวจอื่นควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเชิงรุก โดยรถพระราชทาน คลินิกชุมชน และหาวิธีการตรวจอื่นที่มีความสะดวก เพื่อทำให้ผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยเปราะบางได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น

 

 

3.ปรับการสอบสวนควบคุมโรค จะเน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหญ่ หาจุดเสี่ยงที่จะมีการระบาดให้ทันเวลา และสอบสวนเฉพาะราย หรือการหาไทม์ไลน์ (timeline) ก็จะให้แต่ละจุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการแทน และ 4.การควบคุมเชิงรุก จะเน้นย้ำระวังในกลุ่มซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (Super spreader) หรือผู้ที่ทำให้มีการกระจายเชื้ออย่างกว้างขวาง รวมทั้งมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) ในแรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานประกอบการ แคมป์คนงาน ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ เรือนจำ รวมทั้งแหล่งที่มีคนรวมตัวกัน และสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เราจะเสนอและดำเนินการร่วมกับ กทม.

 

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่เราจะดำเนินการในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม สำหรับมาตรการวัคซีน โดยตั้งแต่วาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน เรามีการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 6 ล้านโดส ส่วนเดือนกรกฎาคม ตั้งเป้าหมายฉีดอย่างน้อย 10 ล้านโดส ซึ่งจะมีการกระจายวัคซีนลงไปทุกสัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส มีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต 2.ควบคุมการระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล 3.เพื่อเป้าหมายอื่นๆ เช่น การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ อาทิ ภูเก็ต แซนด์ บ็อกซ์ (Sand box) ที่เราดำเนินการได้อย่างราบรื่น และลำดับต่อไปคือ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

 

 

“ส่วนการระดมฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ที่มีกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวม 1.8 ล้านคน ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้เดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนจังหวัดอื่นๆใน 2 กลุ่มนี้อีก 17.85 ล้านคน ภายในเดือนสิงหาคม 2564” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ส่วนการฉีดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงระบาดในวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาด จะมีการฉีดวัคซีนรอบชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อไปผู้อื่นสูง โดยมีเป้าหมายการฉีดอย่างชัดเจน และจะมีการติดตามกำกับร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดจังหวัดต่อไป

 

 

 

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า การยกระดับมาตรการทางสังคม ระดับองค์กร โดยเฉพาะประชาชนเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีการระบาดมาก ต้องขอความร่วมมือมาตรการทำงานจากบ้าน (work from home) ในสถานที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ ขอให้ได้ร้อยละ 70 และส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มความเข้มงวดมาตรการบุคคล ประยุกต์มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล มาใช้กับตัวเองและครอบครัว เนื่องจาก การติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยให้ได้มากที่สุด ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน งดเว้นการทำกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงาน จะต้องงดเว้นมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง