รีเซต

ทวีปแอนตาร์กติกาเคยเป็นป่าฝน มีไดโนเสาร์อาศัยอยู่เมื่อ 90 ล้านปีก่อน

ทวีปแอนตาร์กติกาเคยเป็นป่าฝน มีไดโนเสาร์อาศัยอยู่เมื่อ 90 ล้านปีก่อน
บีบีซี ไทย
2 เมษายน 2563 ( 17:19 )
258
1
ทวีปแอนตาร์กติกาเคยเป็นป่าฝน มีไดโนเสาร์อาศัยอยู่เมื่อ 90 ล้านปีก่อน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเยอรมนี ผู้ทำการขุดเจาะพื้นทะเลที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา ค้นพบหลักฐานเป็นดินตะกอนที่มีอายุเก่าแก่และซากฟอสซิลพืชจำนวนมาก ซึ่งชี้ว่าบริเวณใกล้ผืนน้ำแข็งเย็นเยียบดังกล่าว เคยเป็นป่าฝนที่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบในสภาพอากาศอบอุ่น ระหว่างยุคครีเทเชียสที่ไดโนเสาร์ยังคงมีชีวิตอยู่เมื่อราว 90 ล้านปีก่อน

ทีมนักวิจัยจากสถาบันอัลเฟรด วีเกอเนอร์ (AWI) ตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Nature โดยระบุว่าภูมิภาคทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งห่างจากขั้วโลกใต้เพียง 900 กิโลเมตรในยุคดึกดำบรรพ์ เคยมีสภาพอากาศอบอุ่นเหมือนบางส่วนของยุโรปในทุกวันนี้ ทั้งยังเคยมีระดับน้ำทะเลสูงกว่าถึง 100 เมตรด้วย

การค้นพบดังกล่าวมาจากการตรวจสอบแท่งของชั้นตะกอนดินใต้มหาสมุทร ซึ่งเรือสำรวจ "อาร์วี โพลาร์สเทิร์น" (RV Polarstern) ได้ขุดเจาะขึ้นมาจากชั้นตะกอนที่อยู่ลึกลงไป 30 เมตรใต้พื้นทะเล บริเวณใกล้กับหน้าผาน้ำแข็งของอ่าว Pine Island Bay เมื่อปี 2017

เมื่อนำแท่งของชั้นตะกอนดินดังกล่าวมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทีมผู้วิจัยพบร่องรอยของดินยุคโบราณ รวมทั้งเกสรดอกไม้และรากพืชจำนวนมาก ทำให้ทราบได้ว่าในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ที่ไดโนเสาร์ยังคงมีชีวิตอยู่นั้น พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าฝนที่เต็มไปด้วยบึงน้ำและพืชพรรณแบบเดียวกับที่พบบนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

เมื่อนำข้อมูลข้างต้นมาคำนวณด้วยการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมผู้วิจัยพบว่าเมื่อ 90 ล้านปีก่อน พื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีที่ราว 12-13 องศาเซลเซียส แต่ในฤดูร้อนอาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ที่ขึ้นในป่าฝนดึกดำบรรพ์ดังกล่าว จะต้องมีความสามารถพิเศษในการเอาชีวิตรอดจากฤดูหนาวที่ไม่มีแสงแดดของขั้วโลกใต้ ซึ่งกินเวลายาวนาน 3-4 เดือน

AWI/T.Ronge
เรือสำรวจ "อาร์วี โพลาร์สเทิร์น" ขณะขุดเจาะพื้นทะเลใกล้หน้าผาน้ำแข็งของอ่าว Pine Island Bay เมื่อปี 2017

ดร. โยฮัน คลาเกส ผู้นำทีมวิจัยของ AWI อธิบายว่า "บางทีพืชโบราณเหล่านี้อาจมีวิธีจำศีลหรือปิดสวิตช์ร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพสูง ทำให้อยู่ในความมืดได้เป็นเวลานานและสามารถฟื้นคืนชีพมาใหม่เมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการปรับตัวที่น่าสนใจมาก ปัจจุบันเรายังไม่พบพืชชนิดใดในโลกที่ทำได้แบบนี้ แต่ก็เชื่อว่าพืชสามารถมีวิวัฒนาการจนไปถึงจุดนั้นได้"

ศ. เจน ฟรานซิส ผู้อำนวยการองค์กรสำรวจเขตแอนตาร์กติกแห่งอังกฤษ (BAS) ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการสำรวจครั้งนี้กล่าวเสริมว่า "ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยล้านปีในอดีต มีอยู่หลายครั้งที่ผืนน้ำแข็งและธารน้ำแข็งขนาดใหญ่หายไปจากทวีปแอนตาร์กติกา"

"มีความเป็นไปได้สูงว่า บรรดาไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ในป่าฝนดึกดำบรรพ์ที่อบอุ่นใกล้ขั้วโลกใต้นี้ด้วย หากเราดูข้อมูลการสำรวจส่วนปลายของคาบสมุทรแอนตาร์กติก จะพบว่ามีฟอสซิลของไดโนเสาร์อยู่จำนวนมาก ทั้งพวกฮาโดรซอร์, ซอโรพอด และบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ที่คล้ายนก"

AWI/T.Ronge
ทีมนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบแท่งของชั้นตะกอนใต้ทะเล ที่ขุดขึ้นมาไว้บนเรือสำรวจ "อาร์วี โพลาร์สเทิร์น"

"สภาพอากาศอบอุ่นที่ขั้วโลกใต้เกิดขึ้นได้ แสดงว่ามีปรากฎการณ์เรือนกระจกเกิดขึ้นในยุคนั้นอย่างแน่นอน บรรยากาศโลกอาจมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1,000-1,600 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งสูงกว่าโลกยุคปัจจุบันอยู่ 2-4 เท่า"

"อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่พยายามหยุดยั้งภาวะโลกร้อน เราอาจไปถึงจุดที่ขั้วโลกใต้กลับมีอากาศอบอุ่นเหมือนยุคโบราณ ในอีก 300 ปีข้างหน้าได้" ศ. ฟรานซิสกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง