ราคาสินค้าเกษตรเดือน ม.ค. ข้าวหอม ข้าวเหนียว เนื้อหมู กุ้ง วัว แพงต่อเนื่องรับเทศกาลปีใหม่
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2565 โดยพบว่าความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่และมาตรการของภาครัฐ ทำให้ในเดือนมกราคม 2565 ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สุกร ราคาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 77.56-81.29 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.45-6.31% เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพื่อใช้ในการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่ม ขณะที่มีผลผลิตสุกรมีแนวโน้มลดลงจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจะชะลอการผลิตเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง กุ้งขาวแวนนาไม กก.ละ 163.73-164.39 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.45-0.85% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดน้อย เพียง 5.82% ของผลผลิตทั้งปี ขณะที่ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มจากการบริโภคและการท่องเที่ยว
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ด้านโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ กก.ละ 98-101 บาท เพิ่มขึ้น 0.29-3.36% เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวบริการและร้านอาหารเปิดบริการได้ช่วงปีใหม่ รวมถึงการทยอยส่งโคไปจีนตามคำสั่งซื้อกว่า 5 แสนตัว ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ตันละ 9,966-10,075 บาท เพิ่มขึ้น 1.17-2.27% เนื่องจากฮ่องกงต้องการใช้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 8,160-8,460 บาท เพิ่มขึ้น 1.18-4.90% หลังผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 9.08-9.16 บาท เพิ่มขึ้น 0.85-1.73% หลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก กก.ละ 14.05-14.38 บาท เพิ่ม 1.87-4.25% ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.95-55.90 บาทต่อ กก. เพิ่มขึ้น 3.46-5.25%
“ส่วนสินค้าเกษตรที่ มีแนวโน้มราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ ตันละ 7,644-7,701 บาท ลดลง 0.70-1.43% เนื่องจากการแข่งขันราคาข้าวยังคงรุนแรง มันสำปะหลัง กก.ละ 2.20-2.26 บาท ลดลง 0.88-3.51% เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 8.10 -8.40 บาท ลดลง 3.22-6.60% เนื่องจากมาตรการภาครัฐยังคงขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบจากการที่ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค รวมถึงความกังวลโควิดระลอกใหม่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทางลดลง” นายสมเกียรติกล่าว