หอการค้าไทยถก40ซีอีโอวันนี้รับมือผลกระทบโควิด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19เม.ย.) จะจัดประชุมหารือระหว่างคณะกรรมการหอการค้าไทยกับ ผู้บริหารระดับสูง (ซีอีโอ) ของ 40 องค์กรใหญ่ ด้วยระบบประชุมทางไกลจากทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคผลิต กูเกิล เฟซบุ๊ค ไลน์ ไอบีเอ็ม กลุ่มธนาคาร ยูนิลีเวอร์ ธุรกิจโรงแรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ซึ่งเน้น 3 ประเด็นหลักคือ 1.การสนับสนุนพื้นที่ในการฉีควัคซีนป้องการโควิด-19 เบื้องต้นจะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน
ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาบริหารงานในด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุผลโดยเร็ว เช่น ทีมสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบ สนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาทิ การติดตามผล และการออกใบรับรองผล เป็นต้น เพื่อให้หมอและพยาบาลที่ปกติต้องมาช่วยงานในส่วนนี้ ได้ไปทำหน้าที่ในการรักษาประชาชนได้อย่างเต็มที่ และภาคเอกชนต้องการชี้แหล่งที่มาของวัคซีนเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลได้รับทราบ เพื่อให้ทุกจังหวัดในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากขึ้น ถ้ารอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดหาเพียงฝ่ายเดียวอาจ ล่า ช้าเกินไป ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะขยายการช่วยเหลือด้านสถานที่และอุปกรณ์ไปที่จังหวัดภูเก็ตคาดว่าจะเริ่มในเดือนมิ.ย.นี้ และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้กว่า 60% เพื่อรอง รับแนวทางการเปิดประเทศของรัฐบาลวันที่ 1 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะขยายความช่วยเหลือไปจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
" หอการค้าไทยได้หารือเพื่อร่วมมือกับภาครัฐในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการเตรียมสถานที่ ฉีดวัคซีนร่วมกับภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาสถานที่ ฉีดไม่เพียงพอ โดยมีผู้ประกอบการใน เครือข่ายหอการค้าไทยเสนอพื้นที่มาแล้ว 49 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีทั้งที่เป็น โรงแรม สถานประกอบการ และห้างสรรพสินค้า โดหลังจากที่หอการค้าไทยสำรวจความพร้อมในเบื้องต้นและเสนอกรุงเทพมหานครคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง ภายในเดือน เม.ย.นี้ และหากโมเดลนี้ได้ผลดีจะเป็น ต้นแบบการฉีดวัคซีนในต่างจังหวัด ซึ่งมี ผู้ประกอบการในเครือข่ายหอการค้าแสดงความจำนงเป็นสถานที่ฉีดวัคซีน 234 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรองรับวัคซีนล็อตใหญ่ ที่จะมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า"
สำหรับกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนวัคซีน 4.8 แสนโดส ต่อเดือน ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ซึ่งตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ถึงปลายปี กรุงเทพมหานครจะได้วัคซีนเพิ่มอีก 1.5 ล้านโดสต่อเดือน หากถึงปลายปีจะมีวัคซีนถึง 10 ล้านโดส ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีน 70% ขณะที่สถานที่ฉีดวัคซีนจะไม่เพียงพอรองรับวัคซีน 1.5 ล้านโดส ที่ต้องฉีดวันละ5 หมื่นโดส สำหรับปัญหาบุคลากรที่ทำหน้าที่ฉีดวัคซีนที่มีไม่เพียงพอ ทางภาคเอกชนพร้อมที่จะหาบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลมาช่วย โดยทางกรุงเทพมหานครบอกว่า มีความพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล ที่เกษียณแล้วและยังมีนักศึกษาแพทย์ ปี 3-4 มาช่วยฉีดวัคซีน
2.การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพิ่มขึ้นจากเดิม และ 3. การแพร่ระบาดโควิดรอบ 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งต้องดูว่าจะหาทางช่วยเหลือกันอย่างไร และแนะทางออกให้รัฐบาลได้รับทราบ เพื่อนำไปทบทวนมาตรการต่างๆ แม้ว่ารัฐบาลไม่ล็อกดาวน์แต่ผลกระทบที่ได้รับอาจไม่แตกต่างกับล็อกดาวน์
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปหารือต่อในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถายบัน (กกร.) ที่จะประชุมวันที่ 21 เมษายนนี้ ก่อนเร่งหาข้อสรุป เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันภายในเดือนเม.ย.นี้