เริ่มปฏิบัติการดำน้ำ อุดท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเล กองทัพเรือ-SPRC-ผู้เชี่ยวชาญ เผย 3 ขั้นตอนดำเนินงาน
เริ่มปฏิบัติการดำน้ำ อุดท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเล กองทัพเรือ-SPRC-ผู้เชี่ยวชาญ เผย 3 ขั้นตอนดำเนินงาน ป้องกันรั่วไหลเพิ่มขึ้นจากท่ออ่อนเสียหาย ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันที่ 23 ก.พ.65 กองทัพเรือหลวงหนองสาหร่าย พร้อมกำลังพล ร่วมกับ บริษัทสตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน หรือ SPRC และ กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง กรมธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด
เริ่มขั้นตอนแรกของปฏิบัติการอุดรอยรั่วของท่ออ่อนใต้ทะเล เพื่อป้องกันการรั่วไหลที่เพิ่มขึ้นจากท่ออ่อนที่เสียหายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ โดยจะนำท่ออ่อนดังกล่าวไปตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดรอยรั่วต่อไป
ปฏิบัติการปิดจุดรั่วไหลของท่ออ่อนใต้ทะเลในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การฉีดน้ำยากันรั่วที่วาล์ว การดูดน้ำมันออกจากท่อที่ได้รับความเสียหาย และการพันรอยรั่วทั้ง 2 จุด
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ บริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนการในการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายท่ออ่อนทั้งหมดที่บริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลอย่างปลอดภัยที่สุด
โดยทางกองทัพเรือ เปิดเผยถึงการปฏิบัติการว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.65 ให้การสนับสนุนเรือหลวงหนองสาหร่าย กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ พร้อมกำลังพลและชุดปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ในการถอดทำลายอัมภัณฑ์ ได้เดินทางไปปฏิบัติงาน ณ ทุ่น SPM จากกรณีน้ำมันรั่วไหลจากท่ออ่อนบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมัน (SPM) มาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนลงดำน้ำเพื่อสำรวจรอยรั่วอีกครั้ง ได้มีการประชุมวางแผนการดำน้ำเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ใต้ท้องทะเลมีความรัดกุมมากขึ้น บนเรือ Uniwise Rayong โดยในการดำน้ำครั้งนี้มีนักประดาน้ำจากเรือหลวงหนองสาหร่าย เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
การดำครั้งแรก OWA Diver เป็นการดำน้ำใต้ทุ่นเพื่อสำรวจดูสภาพแวดล้อม และลักษณะต่างๆใต้ทุ่น และการลงดำครั้งที่สอง เป็นการลงไปทำการฉีด สารประกอบที่ใช้ทำความสะอาด (Cleaner Compound) ไปที่ วาล์วจำนวน 3 ตัว ทำความสะอาด หัวฉีด(nipple) และตัววาล์วหมายเลข 3
ทั้งนี้กองทัพเรือยังคอยเฝ้าระวังดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลเพิ่มเติม และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทะเล