รีเซต

ส่องราคายางพาราไทย ปิดตำนาน “3 โล 100 “ ?

ส่องราคายางพาราไทย ปิดตำนาน “3 โล 100 “ ?
TNN ช่อง16
9 มีนาคม 2567 ( 19:50 )
82

จากข้อมูลเมื่อปี 2565 ซึ่งรายงานโดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics พบว่า รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ของไทย รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 12.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยพืชทั้ง  5 ชนิด ประกอบด้วย อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา  ส่วนในปี 2566 คาดว่า จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม คือ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง ทำให้ราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้ง 2 ชนิด ปรับตัวลดลงตามไปด้วย  ขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา







อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสเฉพาะ ราคายางพาราก่อนหน้านี้ จะพบว่า ราคาค่อนข้างผันผวน เพราะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกประเทศ รวมถึงความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยในประเทศ ต้องดูทั้งเรื่องสต็อกน้ำยางพารา  ผลผลิตยางที่ออกมาในแต่ละปี และความต้องการใช้ในประเศ สิ่งสำคัญคือ “นโยบายของรัฐบาล” ในแต่ละยุคสมัย  เช่น ยุคของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ช่วง ปี 2544 ราคาน้ำยางสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท ซึ่งถือเป็นช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำอย่างมาก ทำให้มีการพูดถึง แนวคิด “โค่นต้นยางทิ้ง” เพื่อหันไปปลูก “จำปาดะ” แทน ขณะที่ชาวสวนยางก็ทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับราคาดังกล่าวโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย


ส่วนในยุคของ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำ MOU กับประเทศผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมทั้งเจรจาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย จนส่งผลให้ราคายางพาราพุ่งขึ้นแตะที่ระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นด้วย  ขณะที่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ราคายางพาราค่อนข้างมีความผันผวนสูงจากราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุด 36 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนที่ราคายางจะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลาย ๆ รัฐบาล 

จากนั้นก้าวเข้าสู่ยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ในช่วงแรกราคายางพาราอยู่ในช่วงขาขึ้นพุ่งขึ้นไปสูงถึงระดับ 180 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนที่จะโดนพิษเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ประกอบกับเป็นช่วงที่ค่าเงินคอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าทำให้ราคายางลดลงมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัม   กระทั่งถึงยุครัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557-2566  ราคายางพาราร่วงลงมาอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะถึงจุดต่ำสุดที่ 3 กิโล 100 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 47-80 บาท/กิโลกรัม






ส่วนในยุครัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะเห็นว่า ช่วงนี้ราคายาง มีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้น  จากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) พบว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ราคายางพาราในประเทศขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สูงกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม โดยยางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 81.09 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 41 เดือน และ คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้น มาจากความเข้มงวดเรื่องการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน และไม่อนุญาตให้นำเข้ายางจากต่างประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น รวมถึงความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคพลัส เพื่อตรึงราคาน้ำมันไว้ในระดับที่สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์เพิ่มสูง ช่วยเพิ่มความต้องการใช้ยางธรรมชาติในภาคการผลิตให้มากขึ้น




เมื่อมีสัญญาณดีแบบนี้ แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาแสดงความยินดีที่ราคายางพาราในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมระบุว่า ในอดีตราคายางพาราตกต่ำ 3-4 กิโลกรัม ขายได้เพียง 100 บาท ซึ่งรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายผลักดันให้รายได้เกษตรกรเพิ่ม 3 เท่าภายใน 4 ปี ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร โดยแนวทางการเพิ่มราคายาง คือ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันป้องกันการลักลอบนำเข้ายางเถื่อน  โดยความร่วมมือของ กองทัพบก กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด


นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้หารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศนำเข้ายางพารามากถึง 80% เพราะมีโรงงานผลิตถุงมือยาง ซึ่งหากมาเลเซีย มีความต้องการยางพาราเพิ่ม ก็สามารถแจ้งกับรัฐบาลไทยได้โดยตรง เพราะไทยพร้อมที่จะจัดส่งยางไปให้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศอื่นผ่านทางประเทศไทย  โดยหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อว่าราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นอีก เพราะรัฐบาลยังคงจะพยายามดำเนินมาตรการให้ราคายางเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางที่กระจายอยู่ในภาคใต้ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  



เส้นทางราคายางพาราในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตาของเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งผลให้ชาวสวนยางบางส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ถึงขั้นต้องกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่าย  บางรายต้องเริ่มโค่นต้นยางเพื่อขายต้นนำมาปลดหนี้ ...นับจากนี้ต้องจับตากันต่อไปว่าทิศทางราคายางพารา จะเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่ชาวสวนยางจะได้ลืมตาอ้าปาก โดยไม่ต้องส่งยางไปขายบนดาวอังคารหรือไม่?


เรียบเรียงโดย ...ปุลญดา  บัวคณิศร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง