รีเซต

เสือโคร่ง "ทับลาน" จุดเปลี่ยนสมดุลป่า อุปสรรคเพิ่มจำนวนประชากรเสือ

เสือโคร่ง "ทับลาน" จุดเปลี่ยนสมดุลป่า อุปสรรคเพิ่มจำนวนประชากรเสือ
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2567 ( 17:00 )
43

บทความชิ้นนี้พาไปสะท้อนอีกผลกระทบที่เกิดขึ้น จากประเด็นข้อพิพาทระหว่างชุมชน กับ ฝ่ายอนุรักษ์ในการจัดสรรพื้นที่อุทยานฯทับลาน ซึ่งชัดเจนว่าข้อพิพาทระหว่างคน กับ สัตว์ป่า ที่อาจเป็นปัญหาที่ตามาหากพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีพื้นที่ราว 1,398,000 ไร่ มีป่าโดดเด่นถึง 4 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบชื้น ถือเป็นแหล่งนิเวศวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย ต้องถูกเฉือนเป็นออกไปกว่า 265,000 ไร่  ในแง่ของผลกระทบต่อสัตว์ป่าจะเกิดอะไรบ้าง  

ความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านกับพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ป่า ไม่ได่มีเพียงข้อขัดแย้งด้านกฎหมาย แต่การประท้วงอย่างเงียบๆของสัตว์ป่าที่พูดไมได้มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  

สัตว์ป่าไม่รู้จักโฉนด ไม่มีแผนที่ มีเพียงสัญชาตญานของการอยู่รอดตามธรรมชาติเท่านั้น มันไม่รู้ว่าใครบุกรุก ใครรุกล้ำพื้นที่ป่า รู้แต่เพียงว่ามันจะหาอาหารได้จากตรงไหน  นั่นทำให้สิ่งปลูกสร้าง หรือ พื้นที่เกษตรบริเวณชายป่าไม่ได้อยู่ในสายตาของฝูงช้างป่า และมักถูกเหยียบย่ำ ทำลาย จนนำมาซึ่งการปะทะและ ความสูญเสีย สิ่งที่ต้องสังเวย ไม่ชีวิตคน ก็ชีวิตของสัตว์ป่า  

ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่าการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นทำกินของประชาชนย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะสัตว์ป่ากลุ่มที่ปรับตัวได้เร็ว เช่นช้างป่า เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจเป็นการดึงดูดให้ฝูงช้างป่าเข้ามาเผชิญหน้ากบับคนมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากพื้นที่ขอบป่าทั่วประเทศที่เห็นถึงการเผชิญหน้าระหวางคนกับช้างป่าอยู่บ่อยครั้ง  

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่อกิจกรรมของมนุษย์อย่างเสือโคร่ง เพราะในพื้นที่ “ทับลาน” ถือเป็นแหล่งฟื้นฟูเสือโคร่งอันดับ 2 ของประเทศไทย  รองจากพื้นที่ป่าฝั่งตะวันตก   ซึ่งธรรมชาติเสือโคร่งมีความอ่อนไหวต่อเสียง และ แสง ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์   ซึ่งพฤติกรรมของมันจะหลีกเลี่ยง และ หลบหายเข้าไปในป่าลึก   

ดร.ศุภกิจ มองว่าการเกิดขึ้นของชุมชนที่ขอบป่าในพื้นที่อุทยานฯทับลานน่าจะส่งผลโดยตรงต่อแผนการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ช แม้จะเป็นการเพียงใช้พื้นที่ขอบป่า แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเสือโคร่งมีมากกว่าที่ตามองเห็น โดยเฉพาะการที่กิจกรรมของคนจะส่งผลต่อการสร้าอาณาเขตของเสือโคร่ง และ อาจบดบังเส้นทางการเดินข้ามจากป่าทับลาน ไปยังพื้นที่เขาใหญ่ จำกัดพื้นที่จะทำให้การเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งมีปัญหา

ขณะที่มุมมองของนายสัตวแพทย์ ชิษณุ ติยะเจริญศรี รองประธานมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศ เห็นว่าข้อพิพาทของคนกับช้างป่ามีให้พบเจอแทบจะทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่สัญญาณเตือนที่ปรากฎชัดเจนคือการมาของเจ้าป่าอย่างเสือโคร่ง ที่พบเห็นการเฉียดเข้าใกล้กับชุมชน  เช่นกรณี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67  ชาวบ้านพบเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่ เดินป้วนเปี้ยนกลางหมู่บ้าน พื้นที่หมู่ที่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลานจังหวัดกำแพงเพชร นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าขนาดใหญ่ อยู่ตามริมคลองสาธารณะป่าคลองลานใกล้หมู่บ้าน  จากการตรวจสอบคาดว่าเป็นเสือธรรมชาติที่ออกมาจากป่า มีรูปร่างใหญ่ สูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.50 เมตร อายุราว 2 ปี  คาดเป็นเสือที่ออกจากตัวแม่ เพื่อมาหาอาณาจักรของมัน  

นายสัตวแพทย์ ชิษณุ ติยะเจริญศรี รองประธานมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศ มองว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของคนกับสัตว์ป่า เป็นผลจากการการขยายตัวของชุมชนเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ากรณีเฉือนป่าทับลานอาจทำให้ได้เห็นปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น 

นายสัตวแพทย์ ชิษณุ  อธิบายว่าธรรมชาติของสัตว์ป่าจะหนีห่างออกจากมนุษย์เสมอ นั่นหมายความว่าหากมีคนเข้าไปสร้างชุมชน ตามสัญชาติญาณสัตว์ป่าจะไม่เข้าใกล้ เพื่อความปลอดภัย แต่กรณีที่พบสัตว์ป่าเสือโคร่งเข้าไปเฉียดใกล้ชุมชนนั่น เป็นกรณีของเสือโคร่งหนุ่มที่ขาดประสบการณ์ ซึ่งเมื่อมันถึงช่วงวัยที่ต้องการสร้างอาณาจักร และ ชุมชนนั้นอาจจตั้งทับอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารของมัน  เพราะเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร มักปรากฏตัวในจุดที่ธรรมชาติมีความอุดสมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของแหล่งอาหารของมัน  ซึ่งการแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การไล่เสือโคร่งออกไปให้พ้นจากชุมชน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ชุมชนอาศัยอยู่โดยไม่กระทบกับวิถีชีวิตของสัตว์ป่าต่างหาก

 “ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นต้องมีการพัฒนาสร้างระบบสาธารณูปโภค สร้างอาชีพ เพื่อให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ คำถาม คือ เมื่อพื้นที่ป่าถูกแบ่งไปเป็นพื้นที่ทำกิน แล้วคนกลุ่มนั้นจะทำอาชีพอะไร จะปลูกอะไร ให้สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ถ้ายังไม่มีการวางแผนหรือการคิดอย่างเป็นระบบ แน่นอนว่าความตั้งใจแรกในการเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่ทำกิน เพื่อแก้ความยากจนก็ไม่สำเร็จ เมื่อคนในชุมชนทำกินไม่ได้ ก็กลับไปสู่ปัญหาความยากจน แล้วสุดท้ายเค้าจะทำอย่างไรกับที่ดินทำกินที่หาเลี้ยงชีพไม่พอ ” นายสัตวแพทย์ ชิษณุ  ตั้งคำถาม 

นายสัตวแพทย์ ชิษณุ  ยอมรับว่าว่าแนวคิดการเปลี่ยนพื้นที่อุทยานฯทับลานบางส่วนให้กลายเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในครั้งนี้เค้าเห็นเพียงแต่เป้าหมายและความต้องการของนโยบายเพื่อแก้ไขความยกจน แต่ขาดการวางแผน และ แนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์   ผิดกับผลเสียที่สะท้อนได้ชัดเจนในเรื่องการลดทอนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ในขณะที่มนุษย์กำลังเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และ ต่างตระหนักดีว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือทางรอดของปัญหา แต่เมื่อถึงเวลาต้องเลือกระหว่างการเพิ่มพื้นที่ป่า  พื้นที่สีเขียวกลับกลายเป็นตัวเลือกที่ถูกมองข้าม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง