รีเซต

เหตุใดผู้หญิงอายุน้อยถึงมีอาการ “ลองโควิด” มากกว่าผู้ชายหลายเท่า

เหตุใดผู้หญิงอายุน้อยถึงมีอาการ “ลองโควิด” มากกว่าผู้ชายหลายเท่า
ข่าวสด
14 มิถุนายน 2564 ( 23:27 )
84
เหตุใดผู้หญิงอายุน้อยถึงมีอาการ “ลองโควิด” มากกว่าผู้ชายหลายเท่า

 

เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 แบบมีอาการรุนแรงได้มากกว่าเพศตรงข้าม แต่ในกรณีของอาการป่วยเรื้อรังซึ่งเกิดขึ้นในระยะยาวหลังร่างกายหมดเชื้อแล้ว หรือ "ลองโควิด" กลับพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยสตรีวัยสาวและวัยกลางคน มากกว่ากลุ่มคนไข้ชายถึง 4 เท่า

 

 

รายงานจากสถาบันวิจัยและสถานพยาบาลในหลายประเทศของยุโรปพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่มีอาการลองโควิดอยู่ในวัยราว 40 ปี โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีมากถึงเกือบ 70% ของผู้ที่มีอาการลองโควิดทั้งหมด

 

 

แพทย์หญิงเมลิซซา ไฮต์แมน ผู้บริหารคลินิกแห่งหนึ่งของโรงพยาบาล UCLH ในกรุงลอนดอน ซึ่งติดตามดูแลคนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว บอกว่า "ผู้หญิงที่มีอาการลองโควิดส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีงานประจำทำและมีลูกที่ยังเล็กอยู่ ขณะนี้พวกเธอถึง 1 ใน 4 ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ เพราะยังรู้สึกอ่อนเพลียและป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เรื่อย ๆ นับว่าเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเลยทีเดียว"

 

 

ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ผู้หญิงมักจะล้มป่วยด้วยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome - CFS) มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า หลังหายจากโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียจากโรคไลม์ (Lyme disease) ซึ่งพบในผู้หญิงได้มากกว่า

 

 

อย่างไรก็ตาม อคติทางเพศในอดีตที่มองว่าคนไข้หญิงวัยกลางคนมักวิตกกังวลสูง จนทำให้พวกเธอรายงานอาการป่วยจุกจิกกับแพทย์บ่อยครั้งกว่าเมื่อเทียบกับคนไข้ชาย ส่งผลให้วงการแพทย์ไม่สู้จะสนใจทำการศึกษากลุ่มอาการ CFS อย่างจริงจัง โดยเชื่อว่ากลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางจิตวิทยา มากกว่าจะเป็นความเจ็บป่วยในร่างกายอย่างแท้จริง

 

 

ภาวะชดเชยการตั้งครรภ์

เมื่อโลกต้องประสบกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แน่นอนว่าต้องมีผู้ป่วยลองโควิดจำนวนมากเกิดขึ้นติดตามมาภายหลัง ทำให้ปัจจุบันความสนใจในการศึกษากลุ่มอาการ CFS ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

 

 

แนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า Pregnancy Compensation Hypothesis หรือภาวะชดเชยการตั้งครรภ์ เป็นสมมติฐานที่อาจนำมาอธิบายได้ว่า พันธุกรรมของสตรีที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการอุ้มท้องมีบุตร มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน และอาการป่วยเรื้อรังแม้หายจากการติดเชื้อแล้วได้อย่างไร

ศาสตราจารย์ อะกิโกะ อิวาซากิ จากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ เป็นผู้ค้นพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T- cell) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิคุ้มกันร่างกาย จะทำงานอย่างแข็งขันในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เมื่อเกิดการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ระยะแรก

 

 

"ผู้หญิงมีโครโมโซม X สองชุด ยีนหลายตัวที่กำกับควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอยู่บนโครโมโซม X ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าผู้ชาย" ศ. อิวาซากิกล่าว

 

 

นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้หญิงจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมสูงกว่าผู้ชายเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของสตรีมีวิวัฒนาการมาเพื่อปกป้องตัวอ่อนในครรภ์ที่บอบบางด้วย

 

 

แม้ภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งนี้ จะทำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการตายจากโรคโควิดชนิดรุนแรงต่ำกว่าชายมาก แต่การที่มันสามารถตอบสนองต่อเชื้อโรคได้ว่องไวเกินคาด ทำให้ซากชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสโควิดที่ยังตกค้างอยู่ตามแหล่งกักเก็บในอวัยวะต่าง ๆ หลังสิ้นสุดการติดเชื้อ กลายเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ใหม่

 

 

 

โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง

ภาวะอักเสบจากโปรตีนไซโคไคน์ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค คือสาเหตุของอาการลองโควิดที่คนไข้จะรู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ ไอ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มอาการนี้อาจคงอยู่นานหลายเดือนไปจนถึงหนึ่งปีหลังไวรัสโควิดหมดไปจากร่างกายแล้ว

 

 

นอกจากสมมติฐานเรื่องการตั้งครรภ์ทำให้ผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ตื่นตัวอย่างสูง จนกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการลองโควิดแล้ว ยีนของผู้หญิงบางตัวและฮอร์โมนเอสโตรเจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานตอบสนองมากเกินไป จนเกิดโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (autoimmune disease) ขึ้นมาได้

 

 

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าลองโควิดเป็นรูปแบบหนึ่งของโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ซึ่งพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยลองโควิดหญิงหลายคนเริ่มมีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยแพ้มาก่อน รวมทั้งมีอาการปวดข้อคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านและทำลายเซลล์ร่างกายตนเอง

 

 

ในกรณีนี้ ฮอร์โมนเพศชายอย่างเทสโทสเตอโรนจะช่วยได้มาก เพราะมันจะไปกดการทำงานของบีเซลล์ (B-cell) ในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นตัวผลิตสาร "ออโตแอนติบอดี" (autoantibody) ที่ต่อต้านและเข้าทำลายเซลล์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์บุผนังหลอดเลือดและเซลล์สมอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง