รีเซต

"ลองโควิด" Long Covid มีอาการนานสุด 3 เดือน ส่งผลสมาธิสั้น-ขี้ลืม ในวัยทำงานสูงสุด

"ลองโควิด" Long Covid มีอาการนานสุด 3 เดือน ส่งผลสมาธิสั้น-ขี้ลืม ในวัยทำงานสูงสุด
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2565 ( 08:31 )
104

กรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลจากผู้ป่วย "ลองโควิด" (Long Covid) เกือบ 20,000 คน พบป่วยมากถึง 6 กลุ่มอาการ มีระยะเวลานานสุดถึง 3 เดือน โดยระบบประสาทมีการแสดงออกของอาการหลากหลายและอาการสมาธิสั้น พบในกลุ่มวัยทำงานมากที่สุด

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้มีการพูดคุยผ่านเพจของกลุ่มการแพทย์ ในประเด็นของอากร "ลองโควิด" (Long Covid) เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา

6 กลุ่มอาการลองโควิดในคนไทย

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจในช่วงเริ่มต้นของกรมการแพทย์ ที่มีการเก็บข้อมูลของคนป่วยจากอาการลองโควิด จำนวน 1,300 ราย พบผู้ป่วย 6 กลุ่มอาการ ทำให้พบว่าคนไทยมีอาการอะไรบ้าง ซึ่งก็พบว่าคนไทยมีอาการที่สอดคล้องกับผู้ป่วยในต่างประเทศ

ภายหลังนั้นได้มีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มในปี 2565 จากผู้ป่วย 18,000 ราย และบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 2,000 ราย ตลอด 5 เดือนจากทุกโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ พบว่าอาการของลองโควิดนั้น มี 6 กลุ่มอาการ ได้แก่ 

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มอาการทั่ว ๆ ไป เช่น การปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อตามกระดูก 

กลุ่มที่ 2 คือเรื่องของการหายใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม ไอ และอาการเหนื่อยง่าย

กลุ่มที่ 3 กลุ่มหัวใจ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

กลุ่มที่ 4 เป็นเรื่องของอาการที่เกิดขึ้นทางผิวหนัง เช่น ผมร่วงซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย และผิวหนังอักเสบ

กลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ที่เกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับ อาการหลงลืม

กลุ่มที่ 6 กลุ่มทางด้านจิต เช่น มีความเครียด ความวิตกกังวลทางจิตใจ

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า ในแต่ละกลุ่มอาการนั้น จะพบว่ามีเรื่องของอาการที่พบบ่อยกลุ่มละ 3 อาการ ทำให้มีอาการที่พบบ่อยจำนวน 18 อาการ ซึ่งมีการแตกต่างกันไปแต่ละผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีระยะ 3 เดือน ตั้งแต่พบเชื้อและต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า "ลองโควิด" โดยกลุ่มอาการเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลอื่น ๆ ว่ามีสาเหตุจากอะไร

ภาพจาก AFP

อาการลองโควิด ส่งผลต่อระบบประสาท สมาธิสั้น ขี้ลืม

พญ.บุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า 1 ใน 6 กลุ่มอาการ คือ ระบบประสาท มีการแสดงออกของอาการที่หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย โดยเฉพาะในวัยทำงานพบว่ามีอาการสมาธิสั้น เช่น ทำอะไรแล้วเหมือนกับลืม 

ขณะที่บางคนส่งผลกระทบกับพฤติกรรม อารมณ์ หรือการนอนหลับ ที่กระทบตามมาภายหลัง ซึ่งพบว่าหน้าที่สำคัญของสมองในส่วนของสมาธิ ความจำ และการตัดสินใจนั้น พบว่ามีการแสดงความผิดปกติในส่วนนี้ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงหรือตอบได้ชัดเจน 

โดยมองว่ามีหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของการติดเชื้อ หรือพื้นฐานเดิมของบุคคลเหล่านั้น เช่น มีรอยของโรคทางสมองเดิม รวมจนถึงหลังจากหายป่วยแล้ว มีผลกระทบอะไรที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้ทั้งหมด

ภาพจาก AFP

โดยกลุ่มผู้สูงอายุ จำเป็นที่จะต้องเฝ้าดูอาการเป็นพิเศษ ซึ่งกรมการแพทย์ได้มีการทำแบบประเมินตนเอง ผ่านทางช่องทาง social ของกรมการแพทย์ ที่ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ที่จะสามารถเฝ้าสังเกตประเมินอาการ โดยมีฐานข้อมูลของผู้ป่วยตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 โดยในปัจจุบันมียอดข้อมูลผู้ป่วยจำนวนกว่า 20,000 ราย ซึ่งในส่วนของผู้ที่มีอาการผิดปกติที่อาจจะมีอาการรุนแรงขึ้น 

กรมการแพทย์ ได้มีช่องทางสำหรับการแนะนำให้ผู้ป่วย ประสานกับต้นสังกัด ให้ต้นสังกัดนำแนวทางที่กรมการแพทย์แนะนำ โดยนัดผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจผ่านโทรเวช หรือ เทเลเมดิซีน ที่สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้จากที่บ้าน เพื่อรับการตรวจประเมิน ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องตรวจพิเศษ หรือรับการรักษาพิเศษ ผู้ป่วยก็จะได้รับการนัดหมาย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ



วิธีรักษา "อาการลองโควิด"

สำหรับการรักษาอาการ "ลองโควิด" นั้น เป็นกลุ่มอาการซึ่งมักจะไม่เห็นอาการเดี่ยว ๆ แต่จะเห็นหลากหลายอาการ และมีอาการระหว่างกายกับจิตมาพร้อมกัน ซึ่งการรักษานั้นข้อมูลจากในประเทศและต่างประเทศ ที่ได้มีการรวบรวมประเด็นดังกล่าว 

พบว่าจะเน้นในการรักษาตามอาการ และให้ข้อควรระวัง เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจ ที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ และการส่งเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ให้กลับมาเป็นปกติ.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง