รีเซต

รู้ไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ! เปิด 7 กลโยงยอดฮิตของมิจฉาชีพออนไลน์

รู้ไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ! เปิด 7 กลโยงยอดฮิตของมิจฉาชีพออนไลน์
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2564 ( 13:54 )
155
รู้ไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ! เปิด 7 กลโยงยอดฮิตของมิจฉาชีพออนไลน์

วันนี้( 4 ธ.ค.64) เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง โพสต์เตือนภัยประชาชนให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์

โดยระบุข้อความว่า "กลโกงยอดฮิต ของมิจฉาชีพออนไลน์  รู้ไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ อย่าหลงเชื่อ อย่ากดลิงก์ อย่าโอนเงิน ในปัจจุบัน เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราเป็oอย่างมาก มิจฉาชีพส่วนใหญ่ จึงอาศัยช่องทางออนไลน์หลากหลายวิธี เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน หรือทำธุรกรรมต่างๆ

ตำรวจสอบสวนกลาง จึงอยากเตือนภัยประชาชนให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ เพื่อทุกท่านจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

1. หลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งสินค้าจริง หรือส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลง หรือไม่มีคุณภาพมาให้ โดยมิจฉาชีพ จะนำภาพสินค้าจากอินเตอร์เน็ตหรือภาพจากผู้ใช้งานท่านอื่นที่ขายสินค้าจริง แล้วนำมาโพสต์ขายในช่องทางของตัวเอง เพื่อหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ามีสินค้านั้นอยู่จริง และโอนเงินสั่งซื้อ แต่จะไม่ส่งสินค้า หรือส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง

2. เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยมหาโหด มีผู้เสียหายจำนวนมาก หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งปล่อยเงินกู้ออนไลน์ โดยกลุ่มมิจฉาชีพ จะหลอกว่ามีบริการเงินกู้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยราคาถูก ผ่อนจ่ายระยะยาว แต่เมื่อทำสัญญาแล้ว กลับไม่ได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ตกลง อีกทั้งดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย

3. เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) ในกรณีนี้จะต่างจากกรณีข้างต้น คือ แก๊งมิจฉาชีพจะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้ จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่างๆ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อยๆ จนสุดท้าย ก็ไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง 

4. หลอกให้ลงทุนต่างๆ มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหาย ลงทุนต่างๆ เช่น ลงทุนธุรกิจ หรือ ลงทุนแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะเสนอผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ได้เงินไว แรกๆ อาจจะได้รับผลจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้น ก็จะเริ่มบ่ายเบี่ยง ไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้

5. หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มิจฉาชีพจะหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆ ให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนหรือเล่นการพนันออนไลน์ ซึ่งหากท่านถูกโกงจากการพนันออนไลน์แล้ว ท่านอาจไม่สามารถแจ้งความหรือดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้

6. โรแมนซ์สแกม หลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน  กลุ่มมิจฉาชีพจะทำงานเป็นขบวนการ โดยจะใช้รูปภาพและโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติ ที่ดูดีมีฐานะ ทักมาคุยสร้างความสนิทสนม จากนั้นจะหลอกผู้เสียหายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จะส่งของมาให้ หรือหลอกให้ลงทุน ฯลฯ ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้เป็นจำนวนมาก

7. ลิงก์ปลอมหลอกแฮ็กข้อมูลโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะส่งข้อความต่างๆ เช่น ท่านได้รับความช่วยเหลือต่างๆ , ท่านเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล หรือแม้กระทั่งหลอกว่าเป็นลิงก์จากหน่วยงานหรือธนาคาร ให้ผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปเพื่อตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะแฮ็กข้อมูลในโทรศัพท์หรือบัญชีธนาคาร ทำให้สูญเงินไปทันที

อย่างไรก็ตามถ้าซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ให้รีบแจ้งความ

เอกสารที่ต้องเตรียม

1. ภาพ โปรไฟล์ของผู้ขาย

2. โพสต์  ที่ประกาศขายสินค้า

3. แชท  ข้อความการพูดคุยระหว่างซื้อสินค้า

4. บัญชี ธนาคารที่โอนเงินไป 

5. สลิป การโอนเงินชำระค่าสินค้า

**เอกสารตามข้อ 1 และ 2 ควรปรากฎ ที่อยู่ หรือ URL ของพ่อค้า-แม่ค้า ด้วย**






ข้อมูลจาก ตำรวจสอบสวนกลาง

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง