รีเซต

เปิดคุณสมบัติ-มาตรการ ดึงดูด ”ต่างชาติที่มีศักยภาพสูง” เข้าไทย

เปิดคุณสมบัติ-มาตรการ ดึงดูด ”ต่างชาติที่มีศักยภาพสูง” เข้าไทย
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2564 ( 14:30 )
113
เปิดคุณสมบัติ-มาตรการ ดึงดูด ”ต่างชาติที่มีศักยภาพสูง” เข้าไทย

สัปดาห์ที่ผ่าน ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะผู้นำนักระยะยาว หรือ long-term stay  โดยกำหนดคุณสมบัติ และมาตรการที่จะดำเนินการ พร้อมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ  ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดนี้สามารถติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจinsight วันนี้ 



วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มี “ศักยภาพสูง” ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะผู้นำนักระยะยาว หรือ long-term stay  


เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น  และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้นต่างๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจทัล   เราจะไปดูกันว่ารายละเอียดของมาตรการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างไรตามข้อเสนอของสศช.  


เริ่มจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) รับผิดชอบการดำเนินมาตรการฯ โดยพิจารณาจัดตั้ง “หน่วยบริการพิเศษ” เพื่อสนับสนุนและเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย หรือพิจารณาให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงานส่วนใดส่วนหนึ่งภายใต้กำกับของ สกท.  รวมถึงพิจารณาการบริหารจัดการวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวและวีซ่าประเภทอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน


มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย  พิจารณายกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาวและวีซ่าประเภท Smart Visa ทั้งหมดไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน  และให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน

มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน  พิจารณาอนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยู่ในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรได้โดยได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยอัตโนมัติพร้อมกับการขอวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว


มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พิจารณาให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน เรื่อง การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คนต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน  

มอบหมายให้กระทรวงการคลัง  พิจารณาปรับลดพิกัดอัตราอากรขาเข้าเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการนำสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทซิการ์  ลงกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี 

// ปรับปรุงประกาศกรมศุลกากรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน  โดยให้ใช้หลักการพิจารณาว่าเป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ แทนการพิจารณาจากมูลค่าของสิ่งของ //

รวมถึงให้จัดทำและเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวประเภทกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเทียบเคียงกับมาตรการภาษีในลักษณะเดียวกันของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดึงดูดกลุ่มผู้พำนักระยะยาวเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงและมีรายได้จากการทำงานในประเทศไทยระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในราชอาณาจักร


ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบข้างต้นเร่งรัดดำเนินการภายใน 90 วัน และให้รายงานความคืบหน้าของผลการพิจารณาผ่าน สศช. เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป   



ดังนั้นภายในอีก 3 เดือนน่าจะทราบความชัดเจนของมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะที่จับตากันมากที่สุดคือ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ซึ่งกฎหมายปัจจุบันห้ามมิให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านหรือที่ดินในประเทศไทย เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย มาตรา 96 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดินให้คนต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการอยู่ อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ หากนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท


โดยการลงทุนนั้น ประเภทธุรกิจที่ประกอบการต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ หรือเป็นประเภทธุรกิจที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศเป็นธุรกิจที่ขอรับการส่งเสริมฯ ได้ ต้องมีระยะเวลาดำรงการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และที่ดินนั้นต้องอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือในเขตที่กำหนด เป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง 



นอกจากนี้  ระยะเวลาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ ก็เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ นานสูงสุดไม่เกิน 30 ปี  (มาตรา 540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยขยายให้ชาวต่างชาติสามารถทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 50 ปี และเมื่อครบระยะเวลาเช่าอาจต่อระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 50 ปี ว่ามีความเหมาะสมหรือควรปรับแก้ไขอย่างไร

สำหรับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) เป็นการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่ เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และต้องการเป็นผู้พำนักอาศัยในระยะยาว  ทางสศช. มีการกำหนดคุณสมบัติเพื่อพิจารณาการขอวีซ่าของกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ดังนี้


1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (กรณีไม่มีการลงทุน) 


3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป/ ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา/ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี 


ทั้งนี้ การได้รับเงินทุน Series A เป็นหนึ่งในรอบการลงทุน (ประกอบด้วย 4 รอบ) ของธุรกิจร่วมทุน (Venture Capital) ที่จะลงทุนใน Startup โดยในรอบนี้ Startup จะมีความต้องการออกผลิตภัณฑ์ ขยายเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น หรือตลาดใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบทางธุรกิจให้เหมาะสมกับตลาดที่กว้างขึ้น โดยธุรกิจร่วมทุนจะวิเคราะห์ถึงความสามารถในสร้างรายได้ในอนาคตของ Startup และจะต้องลงทุนอย่างน้อยประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 33 ล้านบาท ต่อหนึ่งโครงการในขั้นตอนนี้ 

4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) มีรายได้ส่วนบุคคล (เงินเดือน รายได้จากการลงทุน เป็นต้น) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย


ทั้งนี้ ข้อเสนอของ สศช. ไม่ได้ระบุว่า วีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว แต่น่าจะเป็นระยะเวลา 10 ปี เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีมติร่วมกันในที่ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้าน Medical and Wellness Tourism ครั้งที่ 5 ปี 2559  ให้ขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี ซึ่งให้ดำเนินการใน 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา 


แต่เงื่อนไขอื่นๆ ของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง จะกำหนดคุณสมบัติสูงกว่า ดังนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่ากลุ่ม Medical and Wellness Tourism เช่น ไม่ต้องแจงเจ้าหน้าที่หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน เป็นต้น 

นอกจากนี้  กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง  // กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ//  และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย  นอกจากจะได้สิทธิพิจารณาสำหรับการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวแล้ว  จะได้สิทธิประโยชน์หลักคือ ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า //ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย / /และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน) 


 ขณะที่ กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ  จะได้สิทธิประโยชน์หลักเช่นเดียวกับชาวต่างชาติประเภทอื่น ๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 

สำหรับประมาณการผลประโยชน์ทางเศรฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) 

1.ดึงดูดชาวต่างชาติจำนวน 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศ 

2.เพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี 

3.เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท  ภายใต้สมมติฐานได้รับปริมาณเงินลงทุนจากการลงทุนจากกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งประมาณ 10,000 คน และกลุ่มผู้เกษียณอายุมาณ 80,000 คน จากเงื่อนไขวีซ่าที่กำหนด 

4.เพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี 2.7 แสนล้านบาท จากผู้ถือวีซ่าในกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษจำนวน 4 แสนคน 


อย่างไรก็ตามจะมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมทุก 5 ปี และกำหนดเวลาสิ้นสุดสำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือครองที่ดินเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มบังคับใช้มาตรการ และให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสม


ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่ามาตรการนี้ เป็นการปลดล็อกครั้งสำคัญในการแข่งขันดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยาภาพสูง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยยังขาดแคลน จึงมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง