รีเซต

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หนุนเก็บภาษีตลาดทุนเพื่อบรรเทาปัญหาฐานะการคลัง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หนุนเก็บภาษีตลาดทุนเพื่อบรรเทาปัญหาฐานะการคลัง
มติชน
19 ธันวาคม 2564 ( 15:56 )
52

เก็บภาษีตลาดทุนมีได้มีเสีย สนับสนุนเก็บภาษีตลาดทุนเพื่อบรรเทาปัญหาฐานะการคลัง ค้านเก็บภาษีการขายหุ้น แต่ควรเก็บภาษีกำไรสุทธิแบบ Capital Gain Tax หรือ เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม


ควรเก็บในอัตราไม่เกิน 0.05% และเก็บเฉพาะส่วนที่เป็นกำไรจาก Capital Gain เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค กระทบต่อการระดมทุนและกระทบสภาพคล่องการซื้อขายตลาดหุ้นไทยลดลง

 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีการลงทุนในตลาดทุนนั้นมีความจำเป็นเพื่อบรรเทาปัญหาฐานะทางการคลัง และ กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเสียภาษีได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดและต้องการมาตรการคลังช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม นอกจากนี้ รัฐบาลยังเก็บภาษีพลาดเป้าในปี พ.ศ. 2564 มากกว่าสามแสนล้านบาท การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเรื่อยๆจะนำมาสู่ความเสี่ยงวิกฤติฐานะการคลังในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีการลงทุนในตลาดทุนนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย ควรมีการศึกษาวิจัย และ เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยก็จะทำให้ได้นโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยมากที่สุด และ ควรเก็บจากกำไรจากลงทุน มากกว่า เก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์

 

หากเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสมจะไม่ทำให้สภาพคล่องหรือธุรกรรมในตลาดทุนลดลงมากนัก หากกระทรวงคลังตัดสินใจเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายต่อเดือนเกิน 1 ล้านที่อัตรา 0.1% คาดว่า กระทรวงการคลังน่าจะมีรายได้จากภาษีไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ล้านบาทแต่จะกระทบสภาพคล่องในตลาดหุ้นและธุรกรรม Trading หากกระทรวงการคลังไม่เก็บจากธุรกรรมซื้อขายตามที่ผมเสนอและเก็บเป็น Capital gains และเก็บในอัตรา 0.05% ในการลงทุนที่ถือครองน้อยกว่าหนึ่งไตรมาส รายได้จากภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,000-8,000 ล้านบาทและรายได้อาจไม่แน่นอนขึ้นกับภาวะตลาด จะเก็บได้มากกรณีเป็นทิศทางตลาดหุ้นขาขึ้น หากเป็นตลาดหุ้นขาลงและนักลงทุนส่วนใหญ่ขาดทุน หรือ สัดส่วนการลงทุนเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าหนึ่งไตรมาส รัฐบาลอาจจะไม่ได้ภาษีมากนัก แต่กรณีการเก็บจากกำไรจากการลงทุนจะไม่กระทบสภาพคล่องตลาดและธุรกรรมการซื้อขายไม่มาก และทำให้การพัฒนาตลาดทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ดีกว่ากรณีเก็บจากธุรกรรมซื้อขาย อย่างไรก็ตามหากเก็บภาษีในอัตราสูงไม่ว่า เก็บจากฐานธุรกรรมซื้อขาย หรือ ฐานกำไร ล้วนทำให้สภาพคล่องและธุรกรรมลดลงมากทั้งสิ้นและอาจทำให้การลงทุนในตลาดการเงินไทยถูกโยกย้ายไปประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างสิงคโปร์แทน เมื่อพิจารณาเรื่องเม็ดเงินรายได้ภาษีจากการเก็บภาษีตลาดทุน เพียงแค่ประเทศประหยัดเงินงบประมาณจากการซื้ออาวุธหรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือกำกับไม่ให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณก็สามารถมีเงินในระดับหลายหมื่นล้านบาทโดยไม่ต้องเก็บภาษีตลาดทุนเพิ่มแต่อย่างใด ภาษีตลาดทุนอาจมีประโยชน์ในแง่มุมการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าการที่รัฐจะมีรายได้จำนวนมากจากภาษีประเภทดังกล่าว

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มเทรดดิ้งและซื้อขายทำกำไรระยะสั้น ส่วนนักลงทุนระยะยาวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากกระทรวงการคลังต้องการเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน เสนอให้เก็บจากผลกำไรแบบ Capital Gain Tax หรือ ภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือ ภาษีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ Capital gain หรือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ แทนการเก็บจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเก็บภาษี Capital gain นี้ควรเก็บเฉพาะที่ลงทุนถือหลักทรัพย์ต่ำกว่าหนึ่งไตรมาสเมื่อขายแล้วได้กำไร และ เก็บภาษีจากฐานกำไรดังกล่าว คือ รูปแบบของกำไรที่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเกิดเป็นกำไรส่วนเกินของทุน กำไรที่ได้จาก Capital gains ถูกเรียกเก็บภาษ๊ในบางประเทศ เช่น หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น 25% โดยอาจมีการปรับขึ้นเป็น 30% เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกัน


ส่วน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย ไม่เก็บภาษี Capital gains บางประเทศไม่เก็บภาษีเงินปันผลอีกต่างหาก เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุนและต้องการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน กรณีของไทย ต้องเอาให้ชัดในแง่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจะได้กำหนดนโยบายไม่ให้ขัดแย้งกันเอง

 

การโอนหลักทรัพย์ หรือ เงินได้จากการขายแล้วได้กำไรในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีการเก็บแต่อย่างใด ส่วนในกรณีการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ. ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และ ต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital gains จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

 

ส่วนในประเทศไทยตั้งแต่มีการยกเว้นภาษีซื้อขายหุ้นมาร่วม 30 ปีแล้วและไม่เคยเรียกเก็บในลักษณะ Capital gains Tax เพราะต้องการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน อย่างไรก็ตาม การไม่จัดเก็บภาษี Capital gains มาเป็นเวลากว่าสามสิบปี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกระจายความมั่งคั่งไม่ดีนักในระบบเศรษฐกิจไทย การไม่เก็บภาษีผลกำไรจากตลาดหุ้นทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ระบบภาษีไทยไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขัดกับหลักการการกระจายความมั่งคั่งกระจายรายได้ หรือ การ Redistribution ในระบบเศรษฐกิจ หากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเมื่อใด ก็สามารถทำได้ทันที โดยออกเป็นประกาศกระทรวงให้จัดเก็บ เนื่องจาก มีข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ตนจึงเสนอให้กรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องร่วมพัฒนาระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า นักลงทุนรายใดที่มีปริมาณการซื้อขายที่เข้าข่ายการเสียภาษีดังกล่าว และ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้วอาจปรับเปลี่ยนมาตรการนี้ได้หากได้ (ภาษี) ไม่คุ้มกับ เสีย (การลดลงอย่างมากของการลงทุน การไหลออกของและไม่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน)

 

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวย้ำว่า การที่เสนอให้เก็บเพียง 0.05% และ เก็บเฉพาะผลกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่ต้องถือต่ำกว่าหนึ่งไตรมาส แทนการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาตลาดทุน การส่งเสริมการลงทุนและการออมเงินผ่านตลาดหลักทรัพย์ และ ไม่กระทบสภาพคล่องการซื้อขายมากเกินไป นอกจากนี้การเก็บเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่ถือหลักทรัพย์น้อยกว่าหนึ่งไตรมาสยังลดความผันผวนของตลาดการเงิน ส่งเสริมนักลงทุนระยะยาวมากขึ้น หรือ อาจเสนอให้เก็บภาษีเป็นลักษณะขั้นบันไดก็ได้ คือ ยิ่งถือหลักทรัพย์นานขึ้น เมื่อขายแล้วได้กำไรก็เสียภาษีในอัตราต่ำลง

 

การเสนอให้เก็บเพียง 0.05% เพราะไม่ต้องการเพิ่ม cost of capital มากเกินไป ทำให้ไม่ส่งเสริมการลงทุน และ ยังไม่ส่งเสริมการลงทุนที่มีลักษณะเป็น Capital Intensive Investment นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องภาษีซ้อน เนื่องจากบริษัทและนักลงทุนต้องเสียภาษีกำไรบริษัท ภาษีเงินปันผล แล้วต้องมาเสียภาษี Capital gains อีกก็ไม่ควรเก็บเกิน 0.05% หากเงินรายได้ภาษียังไม่เพียงพอก็ควรพิจารณาเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่ม การลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 มาอยู่ที่ร้อยละ 20 เพื่อแข่งขันดึงดูดการลงทุนกับต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน ก็ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ภาษีในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับคนประมาณ 10% ของประเทศเท่านั้น

 

หากพิจารณาจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตลาดทุนก็ขอให้เตรียมรับมือกับเงินทุนไหลออกไว้ด้วย วอลุมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อาจลดลง ดัชนีอาจปรับตัวลงบ้าง และ ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรไม่ทำให้ ต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) สูงขึ้น เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการลงทุน และ อาจทำให้กิจการ การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้าง การส่งเสริม Venture Capital มีข้อจำกัดมากขึ้น นอกจากนี้ ผลของการจัดเก็บภาษีธุรกรรมซื้อขายหุ้นอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนส่วนหนึ่งไหลเข้าไปลงทุนในกองทุนแทนเพราะไม่ต้องเสียภาษี และอาจทำให้ธุรกิจจัดการกองทุนเติบโตมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง