เปิดแผนกระจาย "วัคซีนโควิด-19" ล็อตแรก เช็กเลยจังหวัดไหนได้กี่โดส?
วันนี้ (23 ก.พ.64) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานว่า ขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ได้เกินกว่า 200 ล้านโดสแล้ว นับเป็นวัคซีนที่พัฒนาเร็วที่สุดและฉีดในประชากรจำนวนมากที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีกว่า 88 ประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้ว
ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 61.29 ล้านโดส ( 30.29% ของจำนวนการฉีดทั่วโลก)
2. จีน จำนวน 40.50 ล้านโดส (20.01%)
3. สหภาพยุโรป 26.23 ล้านโดส (12.96%)
4. สหราชอาณาจักร 17.85 ล้านโดส (8.82%)
5. อินเดีย 10.84 ล้านโดส (5.36%)
6. อิสราเอล 7.13 ล้านโดส (3.52%)
7. บราซิล 6.63 ล้านโดส (3.28%)
8. ตุรกี 6.56 ล้านโดส (3.24%)
9. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.55 ล้านโดส (2.74%)
10. เยอรมนี 4.87 ล้านโดส (2.41%)
ทั้งนี้ หากแยกจำนวนการฉีดวัคซีน ตามภูมิภาค ได้แก่ อันดับ 1. เอเชียและตะวันออกกลาง 38.82% 2. อเมริกาเหนือ 31.86% 3. ยุโรป 22.91% 4. ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 5.15% 5. แอฟริกา 1.26% 6. โอเชียเนีย 0% โดยอัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกอยู่ที่ 6.35 ล้านโดสต่อวัน ประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้วส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศรายได้สูง
นพ.เทโดรส อัดฮานอม เกรเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เตือนว่า วัคซีนต้านโควิด-19 จะเป็น “ทรัพยากรที่มีจำกัด” ทั้งในเวลานี้ และตลอดเวลาที่เหลือของปีนี้ ไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี 2021 นี้ ดังนั้น เราจะต้องใช้วัคซีนต้านโควิดอย่างมีการวางแผนที่ชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศที่มีรายได้สูง บริจาควัคซีนโควิด ผ่านทางโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก เพื่อแจกจ่ายไปยังประเทศกำลังพัฒนาอย่างทั่วถึง
สำหรับประเทศไทย แผนกระจายวัคซีน 2 แสนโดสแรก ซึ่งเป็นของซิโนแวค (sinovac biotech)ตามที่ ศบค. ให้ความเห็นชอบ จะกระจายไปใน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด สมุทรสาคร 70,000 โดส , กทม.ฝั่งตะวันตก 66,000 โดส, ปทุมธานี 8,000 โดส, นนทบุรี 6,000 โดส , สมุทรปราการ 6,000 โดส, ตากอ.แม่สอด 5,000 โดส, นครปฐม 3,500 โดส, สมุทรสงคราม 2,000 โดส, ราชบุรี 2,500 โดส, ชลบุรี 4,700 โดส, ภูเก็ต 4,000 โดส, สุราษฎร์ฯ 2,500 โดส, เชียงใหม่ 3,500 โดส)
ขณะที่เหลืออีก 16,300 โดส สำรองไว้สำหรับควบคุมการระบาดและฉีดให้บุคลากรในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19
ช่วงที่ 2 เป็นวัคซีน astrazeneca จำนวน 26 ล้านโดส
- มิ.ย. 6 ล้านโดส
- ก.ค. 10 ล้านโดส
- ส.ค. 10 ล้านโด๊ส
ช่วงที่ 3 astrazeneca จำนวน 35 ล้านโดส
- ก.ย. 10 ล้านโดส
- ต.ค. 10 ล้านโดส
- พ.ย. 10 ล้านโดส
- ธ.ค. 5 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนซิโนแวคจากจีน 2 ล้านโดส จะเข้ามาประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.) กลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน
2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม
3. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย