รีเซต

โจทย์ท้าทาย 'หมู่เกาะพีพี' รักษาสมดุลท่องเที่ยว-อนุรักษ์ธรรมชาติ

โจทย์ท้าทาย 'หมู่เกาะพีพี' รักษาสมดุลท่องเที่ยว-อนุรักษ์ธรรมชาติ
Xinhua
23 กุมภาพันธ์ 2566 ( 21:14 )
64

กระบี่, 23 ก.พ. (ซินหัว) -- เรือชมวิวแล่นสู่น่านน้ำสีฟ้าครามของอ่าวมาหยาแห่งเกาะพีพีเล แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดกระบี่ โดยมีเชือกทุ่นลอยน้ำคอยกันลำเรือให้แล่นห่างจากชายหาดไม่กี่ร้อยเมตร เปิดให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เชยชมธรรมชาติอันงดงามจากระยะไกลก่อนหันหัวเรือแล่นกลับออกมา

 

ต่อจากนั้นเรือชมวิวเหล่านี้ต้องแล่นสู่ด้านหลังของอ่าวมาหยา ซึ่งมีท่าเรือลอยน้ำสำหรับการจอดเทียบชั่วครู่ชั่วคราว กลุ่มนักท่องเที่ยวจะขึ้นฝั่งจากตรงนี้และเดินตามทางไม้ผ่านป่าธรรมชาติสู่หาดทรายสีขาวที่มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ "เดอะบีช" ปี 2000 นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

 

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะพีพีเลในปัจจุบันล้วนต้องเดินทางด้วยกำหนดการเช่นนี้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่ชายหาดมักคลาคล่ำด้วยเรือสปีดโบ๊ตและทัพนักท่องเที่ยวทุกวันจนทำให้แนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลพังเสียหาย นำไปสู่การตัดสินใจปิดอ่าวมาหยาเมื่อกลางปี 2018

 

ขณะเดียวกันการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เปิดช่องว่างให้อ่าวมาหยาได้หายใจหายคอโล่งขึ้น รวมถึงปูทางสู่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล

 

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่าการฟื้นฟูอ่าวมาหยาถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ประสบผลสำเร็จที่สุดในรอบหลายปีของไทยและโลก

[caption id="attachment_341216" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : เรือหางยาวใกล้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ของไทย วันที่ 16 ก.พ. 2023)[/caption]

ข้อมูลจากคณะนักชีววิทยาทางทะเลระบุว่าจำนวนประชาชนที่เดินทางสู่ชายหาดอ่าวมาหยาลดลงจากราว 7,000 คน เหลือเพียง 375 คนต่อรอบ ด้วยการจำกัดกิจกรรมและระยะเวลาการอยู่บนเกาะอย่างเข้มงวด

นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้เล่นน้ำตื้นและยืนในจุดที่ระดับน้ำทะเลอยู่ต่ำกว่าหัวเข่าเท่านั้น โดยธรณ์เน้นย้ำว่าข้อบังคับเหล่านี้เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการรบกวนระบบนิเวศอันเปราะบางของปะการัง

รูปแบบการท่องเที่ยวที่มีการกำกับดูแลเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลของอ่าวมาหยาอย่างรวดเร็ว ซึ่งธรณ์เผยว่าเขาพบเจอฉลามหูดำแหวกว่ายในน่านน้ำตื้นของอ่าวมาหยากว่า 100 ตัว

ธรณ์กล่าวว่าสำหรับความสำเร็จในปัจจุบันต้องยกคำชมเชยให้ภาคเอกชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมระบบนิเวศของเกาะพีพีเล ตัวอย่างเช่น ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งแรกของไทย

ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลก่อตั้งปี 2018 ตั้งอยู่ภายในรีสอร์ตหรูบนเกาะพีพีดอน ทำหน้าที่เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาเรียนรู้และเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างครอบคลุมรอบด้าน

กุลวิทย์ ลิ่มจุฬารัตน์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสิงห์ เอสเตท (Singha Estate) นักพัฒนารีสอร์ต ระบุว่าศูนย์ฯ ดำเนินโครงการหลากหลาย เช่น เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนและฉลามกบ ร่วมกับหน่วยงานรัฐและอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง

กุลวิทย์เผยว่าปัจจุบันมีการปล่อยปลาการ์ตูนราว 50 ตัว และฉลามกบ 25 ตัว กลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงฉลาม 4 ตัว ที่ถูกปล่อยกลับทะเลเมื่อไม่นานนี้ด้วย

นอกจากนั้นศูนย์ฯ เปิดต้อนรับชุมชนและโรงเรียนท้องถิ่น จัดกิจกรรมต่างๆ แก่ผู้เข้าชมเพื่อมีส่วนร่วมทำความสะอาดชายหาดและปลูกป่าชายเลน โดยศูนย์ฯ ได้ต้อนรับผู้เข้าชมเกือบ 17,000 คน และเพิ่มความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพนับตั้งแต่เปิดทำการ

บรรดาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่พักบนหมู่เกาะพีพีคาดการณ์ว่าคลื่นนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกลับมาในปีนี้ หลังจากตลาดการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นคืนความชีวิตชีวายามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่คลี่คลาย

บาร์ต คัลเลนส์ ผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มรีสอร์ตทราย (Saii Resorts) แสดงการสนับสนุนความพยายามของทางการไทยในการจัดการนักท่องเที่ยวในพื้นที่อ่อนไหวอย่างอ่าวมาหยา โดยเขาเชื่อว่ารัฐบาลและธุรกิจท้องถิ่นสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น

ด้านธรณ์ทิ้งท้ายว่าจุดสำคัญในตอนนี้ควรเป็นการรับประกันว่าระบบสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและระบบนิเวศจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

[caption id="attachment_341217" align="aligncenter" width="900"] (แฟ้มภาพซินหัว : ปลาทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ของไทย วันที่ 16 ก.พ. 2023)[/caption]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง