"หนอนพยาธิ" กำจัดมะเร็ง ช่วยนำพายาเคมีเข้าสู่เนื้อร้ายได้อย่างตรงจุด
แม้หนอนพยาธิอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักกันในฐานะ "ปรสิต" เนื่องจากพวกมันมักจะอาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อแย่งสารอาหารหรือขยายเผ่าพันธุ์ รวมถึงในร่างกายมนุษย์ด้วย แต่คุณเชื่อไหมว่านักวิทยาศาสตร์สามารถปรับแต่งให้หนอนพยาธิกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทในด้านการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งของมนุษย์ !!
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2564 นักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นดัดแปลงพันธุกรรมของหนอนพยาธิ Caenorhabditis elegans ให้สามารถตรวจจับปัสสาวะของผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้ แม้ใช้ปัสสาวะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นับว่าเป็นครั้งแรกที่พยาธิเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษามะเร็ง
และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซากาได้ต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว ด้วยการนำหนอนพยาธิสายพันธุ์ Anisakis simplex มาใช้ในการขนส่งยาเคมีเข้าสู่เซลล์มะเร็งโดยตรง และสาเหตุที่พยาธิสามารถค้นหามะเร็งในร่างกายได้นั้น เพราะมะเร็งจะปล่อยสารเคมีที่มีรูปแบบเฉพาะบางอย่างออกมา ทำให้พยาธิรับ "กลิ่น" (สารเคมี) ของเซลล์มะเร็งได้นั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์นำเยื่อไฮโดรเจลบาง ๆ มาพันรอบตัวของพยาธิก่อนที่จะบรรจุยาเคมีต้านมะเร็งไว้ ซึ่งเยื่อไฮโดรเจลนี้จะทำหน้าปกป้องร่างกายของหนอนพยาธิไม่ให้ได้รับความเสียหายจากยาเคมี จนกว่าพวกมันจะเดินทางไปถึงเซลล์มะเร็ง
จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า หนอนพยาธิสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระแม้จะมียาเคมีบรรจุอยู่รอบตัว และเมื่อพวกมันเดินทางไปถึงก้อนมะเร็งเป้าหมายแล้ว ยาเคมีที่บรรจุอยู่ในไฮโดรเจลจะถูกปลดปล่อยออกมาทำลายก้อนมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากการนำพยาธิมาใช้ในการรักษาโรคแล้ว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสามารถประยุกต์ให้พยาธิกลายเป็น "รถด่วนขนส่ง" ในการนำพาสารเคมีหรือแบคทีเรียที่จำเป็นไปยังพื้นที่เป้าหมาย เช่น ขนส่งแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนลงไปยังรากของพืชใต้ดิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องจัดการเสียก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองในร่างกายของสิ่งมีชีวิต นั่นคือการควบคุมให้พยาธิถูกขับออกมาจากร่างกาย หลังจากบรรลุเป้าหมายในการกำจัดเนื้อร้ายเป็นที่เรียบร้อย แม้หนอนพยาธิสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ใช่เชื้อก่อโรคในมนุษย์ แต่คุณคงไม่อยากให้มีพยาธิคงค้างอยู่ในร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าความเป็นไปได้ คือ การใช้ยาขับพยาธิในการกำจัดพยาธิที่เหลือค้างในร่างกาย หากสามารถจัดการปัญหานี้ได้ก็จะมีการทดลองเพิ่มเติมในลำดับถัดไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering