ญี่ปุ่นใช้ AI คัดสรร “ปลาทูน่า” บอกได้ตัวไหนอร่อยกว่า ใช้เวลาแค่ 12 วินาที

บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีคลื่นเสียงร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยค้นหาว่าปลาทูน่าตัวใด หรือสายพันธุ์ใด มีรสชาติอร่อยที่สุด โดยกระบวนการนี้ ไม่จำเป็นต้องผ่าปลาทูน่าเพื่อตรวจสอบคุณภาพอีกต่อไป
บรรดาผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารทะเล หรือชอบรับประทานซูชิ น่าจะทราบกันดีว่า ไขมันแทรกซึม (marbling) ที่อยู่ในเนื้อปลา คือสิ่งที่ทำให้ซาชิมิและซูชิปลาทูน่า มีรสชาติอร่อยเป็นเลิศ ดังนั้น ในวงการอาหาร ระดับความมันของเนื้อปลา จึงถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินคุณภาพและราคา
ซึ่งโดยปกติแล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะประเมินความมันของเนื้อปลาทูน่า ด้วยการตัดส่วนหาง ด้วยมีดขนาดใหญ่คล้ายเลื่อย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 60 วินาทีต่อปลาหนึ่งตัว
แต่ปัจจุบัน บริษัทฟูจิสึ (Fujitsu) ได้พัฒนาเครื่องจักรที่มีชื่อว่า Sonofai สามารถทำงานนี้ได้ด้วยการใช้ อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) หรือคลื่นเสียงความถี่สูง ในการตรวจสอบเน้ือปลา ใช้เวลาแค่ 12 วินาที โดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการแล่ปลาแต่อย่างใด
ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นสายพานลำเลียง ที่จะเคลื่อนปลาทูน่าแช่แข็งทั้งตัว ขนาดประมาณ 1 เมตร เข้าไปยังเครื่องจักรที่ปล่อยคลื่นอัลตราซาวนด์ออกมา จากนั้นเซ็นเซอร์จะตรวจจับคลื่นเหล่านี้ เพื่อสร้างแผนภาพบนหน้าจอ ซึ่งแสดงถึงระดับความมันของปลา โดยเนื้อติดมันจะดูดซับคลื่นเสียงได้น้อยกว่าเนื้อที่ไม่ติดมัน และข้อมูลเหล่านี้จะถูกกรองสิ่งรบกวนออกด้วย AI อีกขั้น
บริษัทกล่าวว่าการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้มีความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และมีประสิทธิภาพมากกว่า และเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถปรับใช้ได้หลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคต
โดยปัจจุบันเครื่องจักรดังกล่าวกำลังเตรียมที่จะวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ แต่อาจจะไม่ได้เหมาะกับร้านซูชิทั่วไป เพราะราคาเครื่องสูงถึงประมาณ 30 ล้านเยน หรือราว 6,900,000 บาท และจะเริ่มวางจำหน่ายที่แรกในญี่ปุ่น ก่อนจะขยายไปยังสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ในภายหลัง โดยบริษัทตั้งเป้าจะอัปเกรดให้เครื่องสามารถทดสอบความสด ความแน่น และลักษณะอื่น ๆ ของปลาทูน่าและปลาอื่น ๆ ได้หลากหลายขึ้นในอนาคต