รีเซต

เช็กที่นี่ มาตรการป้องกันภัย จากคลื่นสึนามิ ต้องรับมือและปฏิบัติอย่างไร

เช็กที่นี่ มาตรการป้องกันภัย จากคลื่นสึนามิ ต้องรับมือและปฏิบัติอย่างไร
TNN ช่อง16
16 มกราคม 2565 ( 14:54 )
121
เช็กที่นี่ มาตรการป้องกันภัย จากคลื่นสึนามิ ต้องรับมือและปฏิบัติอย่างไร

จากกรณีสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของตองกาประกาศเตือนภัยสึนามิ เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟ ฮังกา-ตองกา-ฮังกา-ฮายาไป ( Hunga-Tonga-Hunga-Ha’apai ) ที่ตั้งอยู่ใต้ทะเล เมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาด 1.2 เมตร ซัดกระหน่ำบ้านเรือนของประชาชนชาวตองกาที่อยู่ตามชายฝั่ง

ทางด้านสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ประกาศเตือนภัยสึนามิ แนะนำประชาชนบนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ออกห่างจากชายฝั่ง เพื่อเป็นการป้องกันคลื่นสึนามิจากภูเขาไฟระเบิด

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ TNN ช่อง 16 ระบุว่าเหตุภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุระเบิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ซึ่งหลังเกิดเหตุทางมูลนิธิได้มีการประสานงานและบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและประเมินความรุนแรง 

ซึ่งขณะนี้พบคลี่คลายแล้ว สึนามิลูกหลักผ่านไปแล้ว ประเทศต่างๆได้ลดระดับคำเตือนลงมาเป็นการเฝ้าระวัง

โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่แล้วเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพราะอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ และยืนยันว่าสึนามิที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากไทยอยู่ห่างจุดเกิดเหตุมากกว่าหมื่นกิโลเมตร และยังมีเกาะแก่ง รวมถึงประเทศต่างๆขวางกั้น พร้อมให้ความมั่นใจถึงระบบเตือนภัยพิบัติสึนามิของไทย 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการเผยแพร่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ โดยระบุไว้ ดังนี้ 

1. เมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้น ขณะที่อยู่ในทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ให้รีบออกจากบริเวณชายฝั่ง ไปยังบริเวณที่สูงหรือที่ดอนทันที โดยไม่ต้องรอประกาศจากทางการ เนื่องจากคลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

2. เมื่อได้รับฟังประกาศจากทางการเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ให้เตรียมรับสถานะการณ์ที่อาจจะเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้โดยด่วน

3. สังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่งหากทะเลมีการลดระดับของน้ำลงมาก หลังการเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้อพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างจากฝั่งมาก ๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่น้ำท่วมไม่ถึง

4. ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ในท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่าจะเกิดคลื่น สึนามิพัดเข้าหา เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมาก ๆ จะมีขนาดเล็ก

5. คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอกจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากมีการแกว่งไปมาของน้ำทะเล ดังนั้นควรรอซักระยะเวลาหนึ่งจึงสามารถลงไปชายหาดได้

6. ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

7. หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ ลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรงในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยในเรื่องคลื่นสึนามิ

8. หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่งในย่านที่มีความเสี่ยงภัยสูง

9. วางแผนในการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น กำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด เป็นต้น

10. จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อาศัยควรมีระยะห่างจากชายฝั่ง

11.ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหว

12.วางแผนล่วงหน้าหากเกิดสถานะการณ์ขึ้นจริง ในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขั้นตอนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาภัย ด้านสาธารณะสุข การรื้อถอนและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น

13. อย่าลงไปในชายหาดเพื่อดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็ใกล้เกินกว่าจะหลบหนีได้ทัน

14. คลื่นสึนามิในบริเวณหนึ่ง อาจมีขนาดเล็ก แต่อีกบริเวณหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวการเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กในสถานที่หนึ่ง จงอย่าประมาทให้เตรียมพร้อมรับสถานะการณ์


ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา / TNN ช่อง 16

ภาพจาก reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง