โลกร้อนทำปะการังทั่วโลกตาย 14% ใน 10 ปี
ผลการสำรวจเกี่ยวกับสภาพความสมบูรณ์ของปะการังครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา แสดงให้เห็นว่าแม้แต่การใช้ระเบิดเพื่อทำประมงและมลพิษก็ยังไม่เป็นอันตรายต่อปะการังมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่ทำให้ปะการังทั่วโลกหายไปถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2552 – 2561
นักวิทยาศาสตร์กว่า 300 คนที่ได้ร่วมกันทำงานในรายงานของเครือข่ายเฝ้าระวังปะการังโลกระบุว่า พื้นที่ที่แนวปะการังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมากที่สุดคือเอเชียใต้และแปซิฟิก รอบคาบสมุทรอาระเบีย และแนวชายฝั่งของออสเตรเลีย
พอล ฮาร์ดิสตี ซีอีโอของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลีย หนึ่งในผู้ร่วมเขียนรายงานดังกล่าวกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับแนวปะการังทั่วโลก
มหาสมุทรดูดซับความร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงมากกว่า 90% ซึ่งป้องกันผิวดินแต่ทำให้เกิดการสร้างคลื่นความร้อนขนาดใหญ่ที่ยาวนานในทะเล ส่งผลให้ปะการังหลายสายพันธุ์ไม่สามารถต้านทานความร้อนเหล่านั้นได้
ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี 1988 อันเนื่องมาจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ส่งผลให้ปะการังถูกทำลายไปมากถึง 8% ในคราวเดียว ทั้งนี้แนวปะการังมีสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% ของพื้นผิวใต้ทะเล แต่เป็นบ้านของสัตว์และพืชทะเลถึง 1 ใน 4 และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเล