'ภาวะโลกร้อน' อาจทำที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ตอนเหนือ มีอากาศอบอุ่น เปียกชื้น
(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่ซานเจียงหยวน แคว้นปกครองตนเองอวี้ซู่ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 18 มิ.ย. 2023)
หลานโจว, 8 เม.ย. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม สังกัดมหาวิทยาลัยหลานโจว คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ขอบทางตอนเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตมีอากาศอบอุ่นและเปียกชื้น
พื้นที่ดังกล่าวเป็นอาณาเขตที่มีความไวต่อสภาพภูมิอากาศ (climatically sensitive) โดยมีอิทธิพลจากมรสุมและลมตะวันตก จึงคาดว่าภูมิภาคแห่งนี้มีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับโลก
คณะนักวิจัยเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงแบบเปียกชื้น-แห้งของภูมิภาคดังกล่าวช่วงปรากฏการณ์โลกร้อนสมัยโฮโลซีนตอนกลาง (mid-Holocene) ช่วงสภาพอากาศผิดปกติในยุคกลาง ช่วงปรากฏการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน และช่วงปรากฏการณ์โลกร้อนในอนาคตจากการคาดคะเนของภูมิอากาศบรรพกาล
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์ไชน่า: เอิร์ธ ไซเอนซ์ส (Science China: Earth Sciences) รายงานว่าคณะนักวิจัยพบว่าปรากฏการณ์โลกร้อนสมัยโฮโลซีนตอนกลางส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากมรสุมฤดูร้อนเอเชียตะวันออกที่ถูกควบคุมด้วยการหมุนของโลก ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพอากาศอบอุ่นและเปียกชื้น
การศึกษาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงแบบเปียกชื้น-แห้งในอนาคตจะคล้ายคลึงกับช่วงปรากฏการณ์โลกร้อนสมัยโฮโลซีนตอนกลางมากขึ้น โดยแม้ว่าขอบทางตอนเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตจะเผชิญภาวะอบอุ่นและเปียกชื้นอันมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน แต่รูปแบบโดยรวมของประเภทสภาพภูมิอากาศในจีนจะไม่เปลี่ยนแปลง
หลี่อวี้ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าโดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมักเป็นวัฏจักร และการเปลี่ยนแปลงแบบแห้งและแบบเปียกชื้นช่วงปรากฏการณ์โลกร้อนในอดีตสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์สำหรับการพยากรณ์อากาศได้