จับกุมแล้วเฉียด300รายขายหน้ากากอนามัย-เจลล้างมือผิดกม.
“พาณิชย์”เผยยอดจับกุมผู้กระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ ล่าสุดจับทั่วประเทศเพิ่มถึง 13 ราย ส่งผลให้ยอดรวมการดำเนินคดีสูงขึ้นอยู่ที่ 298 ราย ส่วนสถานการณ์การจำหน่ายไข่ไก่กลับสู่ภาวะปกติ
นายสุพพัต อ่องแสงคุณ โฆษกกระทรวงพาณิชย์และศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า (ศปส) ฝ่ายสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ณ วันที่ 10 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์เพิ่มอีก 13 ราย
ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 8 รายแบ่งเป็นผู้กระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางออนไลน์ จำนวน 3 ราย เป็นผู้จำหน่ายผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ 1 ราย โดยทำการล่อซื้อและจับกุม พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 675บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13.50 บาท)รวม 10,800 ชิ้น แจ้งข้อหากระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงเกินสมควร และเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตต่อ กกร. ตามมาตรา 25 (5) จับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก 1 ราย จำหน่ายหน้ากากอนามัยกล่องละ 50 ชิ้นในราคากล่องละ 850บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 17บาท) รวม 11,745 ชิ้น กระทำความผิดข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินราคาควบคุมและราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา25 (1) และมาตรา 29 อีก 1 ราย ทำการล่อซื้อผ่านทางโทรศัพท์ พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยกล่องละ 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 680บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13.60 บาท)แจ้งข้อหาจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 29
ที่เหลืออีก 5 รายเป็นร้านค้าทั่วไปโดยทำการล่อซื้อและจับกุมร้านค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยนำเข้า จากประเทศเวียดนาม และจีน1ราย จำหน่ายหน้ากากอนามัยบรรจุกล่องละ 50 ชิ้น จำนวน 41 กล่อง(รวม 2,050ชิ้น) กระทำความผิดข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตตามมาตรา 25 (5) และเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ต่อกกร. ตามมาตรา 26 นอกจากนี้ยังสามารถจับกุมร้านค้าทั่วไปจำหน่ายเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ พบการกระทำความผิดในข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคา ตามมาตรา 28 จำนวน 3 ราย และ อีก 1 รายพบจำหน่ายเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ แพงเกินราคาควบคุม ตามมาตรา 25 (1)
ส่วนในต่างจังหวัดจับกุมเพิ่ม 5 รายได้แก่ จังหวัดปทุมธานี 1 รายเป็นร้านค้าออนไลน์โดยเจ้าหน้าที่ทำการการล่อซื้อและจับกุม พบจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคา กล่องละ 680 บาท(เฉลี่ยชิ้นละ13.60 บาท) รวม 2,500ชิ้น จังหวัดนครราชสีมา 1ราย เป็นร้านค้าทั่วไปจำหน่ายหน้ากาอนามัย10 ชิ้น/แพค ในราคา 200 บาท ทั้งสองรายกระทำความผิดข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยแพงเกินคาสมควร ตามมาตรา 29 จังหวัดสมุทรสาคร 1 รายเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริษัทผลิตเจลล้างมือ พบการกระทำความผิดข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตต่อ กกร. ตามมาตรา 25 (5) จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย เป็นร้านค้าทั่วไปเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและยึดของกลางเป็นหน้ากากอนามัย จำนวน 50,000 ชิ้น กระทำความผิดจำหน่ายหน้ากกอนามัยสูงเกินราคาควบคุม ตามมาตรา 25 และจังหวัดพิษณุโลก1 รายเป็นร้านค้าทั่วไปจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาชิ้นละ 15.00 บาท แจ้งขอหากระทำความผิดจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงเกินสมควร และไม่ปิดป้ายแสดงราคาตามมาตรา 28 และมาตรา 29
ทำให้สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 298 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 148 ราย และต่างจังหวัด 150 ราย สำหรับสถานการณ์การจำหน่ายไข่ไก่แพงเกินจริงทั่วประเทศ ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยไม่ได้รับรายงานพบผู้กระทำความผิดเพิ่ม
ทั้งนี้ โทษที่ผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ปริมาณคงเหลือ ตามมาตรา 25 (5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะแจ้ง มาตรา 26 ข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย มาตรา 28 ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 29 ข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสุพพัตกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าตรวจสอบและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ และสินค้าอื่นๆ ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากผู้บริโภคพบเห็นการณ์กักตุนหรือค้ากำไรเกินควร ร้องเรียนได้ทันที ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และ ในต่างจังหวัดร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จะมีการเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดทันที