รีเซต

โควิด-19: เหตุใดย่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ในเมียนมา

โควิด-19: เหตุใดย่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ในเมียนมา
ข่าวสด
11 กันยายน 2563 ( 13:57 )
84
โควิด-19: เหตุใดย่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ในเมียนมา

 

โควิด-19: เหตุใดย่างกุ้งจึงกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ในเมียนมา - BBCไทย

นครย่างกุ้งของเมียนมา กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดโรคโควิด-19 แห่งใหม่ของประเทศ หลังจากเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกสอง ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการติดเชื้อในประเทศที่รัฐยะไข่ทางตอนกลางของประเทศ

 

ตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยืนยัน ล่าสุดของเมียนมา วานนี้ (10 ก.ย.) อยู่ที่ 2,009 คน เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 120 คน เสียชีวิต 14 คน หายป่วย 553 คน และมีผู้ป่วยต้องสงสัยมากถึง 8,395 คน

บีบีซีแผนกภาษาพม่า รายงานว่าจนถึงขณะนี้ รัฐกะยาซึ่งอยู่ติดชายแดนไทยบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเพียงรัฐเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ส่วนที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ชายแดนเมียนมาตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก มีผู้ติดเชื้อยืนยัน 2 คน

 

 

ก่อนหน้านี้เมียนมามียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมน้อยมาตลอด โดยมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสองรายแรกของประเทศเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา และจนกระทั่งถึงวันที่ 16 ส.ค. มีสถิติผู้ป่วยสะสม 375 คน

แต่เมื่อมีการยืนยันการติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ กลับพบสถิติผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมากกว่า 2 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน

ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. เป็นต้นมา มีผู้ป่วยยืนยันฉลี่ยแต่ละวันในเมียนมาราว 100 คน

 

สถานการณ์ล่าสุดในย่างกุ้ง

นครย่างกุ้ง เป็นพื้นที่ล่าสุดที่พบการระบาดของโรคนี้ ทางการเมียนมาได้บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนใน 7 เขตของย่างกุ้งเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และเพิ่มเป็น 21 เขตซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

ชาวเมียนมาในพื้นที่ตามประกาศถูกร้องขอให้อยู่บ้าน สั่งห้ามกิจกรรมการรวมตัว รวมถึงงานประเพณีต่าง ๆ ยกเว้นผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานหรือซื้อของใช้จำเป็นและเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ

 

Getty Images

 

แม้ในการระบาดรอบแรก เมียนมาจะสามารถรับมือได้ดี แต่การระบาดที่รวดเร็วในรอบสอง ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของทางการในการควบคุมการระบาด

รัฐบาลเมียนมาประกาศให้ข้าราชการสลับกันเข้าทำงานที่สำนักงานตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมาเพื่อลดความแออัดในสถานที่ทำงาน

 

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมายังได้ลดจำนวนวันการกักตัวในสถานกักกันโรคของรัฐจาก 21 วัน เป็น 14 วัน เนื่องจากมีผู้เข้าเกณฑ์ต้องกักตัวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รัฐบาลยังเตรียมก่อสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลเฉพาะกิจที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในขณะนี้

การระบาดระลอกสองยังกระทบต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ก่อนจะถึงกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย. นี้

 

การหาเสียงของผู้สมัครถูกจำกัดให้มีทีมงานเข้าร่วมได้ไม่เกิน 50 คน และพรรคการเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้รณรงค์หาเสียงในเขตที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ล็อกดาวน์บางส่วน

 

การระบาดรอบสองและไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์

หน่วยงานสาธารณสุขเมียนมายืนยันเมื่อวันที่ 20 ส.ค. ว่าพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ G614 ที่เชื่อกันว่าสามารถแพร่เชื้อไปได้เร็วกว่าเดิมถึง 10 เท่า ในเมียนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ในขณะนั้นผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่กลับจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดพบว่าการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกตรวจพบมากขึ้นในผู้ป่วยยืนยันกลุ่มใหม่มากถึง 6 ใน 10 ราย และเป็นการติดเชื้อในประเทศมากขึ้น นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การระบาดระลอกสองในเมียนมามีความรุนแรงมากขึ้นกว่าครั้งแรก

 

นอกจากนี้การติดเชื้อในประเทศยังมีจุดเริ่มต้นในสองภูมิภาคของประเทศที่มีความเปราะบางสูงและมีแนวโน้มของการระบาดของโรคติดเชื้อ

การระบาดระลอกสองในเมียนมา เกิดขึ้นครั้งแรกที่รัฐยะไข่ ทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของผู้ลี้ภัยจำนวนนับแสนคน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา หลังจากนั้นการระบาดได้ลุกลามเข้าสู่นครย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา

 

สันนิษฐานว่าการระบาดไปยังนครย่างกุ้งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสาเหตุจากการเดินทางของผู้คนจำนวนมากจากเมืองสิตตะเวและรัฐยะไข่

จากสถิติระหว่างวันที่ 10-20 ส.ค. มีผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ดังกล่าวไปยังย่างกุ้งประมาณ 5,300 คน แต่ทางการสามารถสอบสวนประวัติการเดินทางของคนเหล่านี้ได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และขณะนี้ทางการเมียนมายังคงใช้ความพยายามในการสอบสวนโรคของผู้ป่วยยืนยันเหล่านี้

 

การระบาดระลอกสองในยะไข่

ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่รัฐยะไข่สูงกว่า 500 รายแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นภายในเวลา 4 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากมีผู้ป่วยยืนยันรายสุดท้ายในเดือน ก.ค.

ผู้ป่วยรายแรกในโควิด-19 รอบสอง ที่ตรวจพบเชื้อที่รัฐยะไข่ เป็นพนักงานธนาคารหญิงชาวเมียนมา อายุ 26 ปี อาศัยอยู่เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ซึ่งไม่เคยมีประวัติการเดินทางจากต่างประเทศ และไม่ได้เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันมาก่อน

 

หลังจากทางการยืนยันผู้ป่วยหญิงรายนี้ ก็มีการตรวจพบผู้ป่วยยืนยืนเพิ่มเติมจำนวนมากที่เป็นการติดเชื้อภายในรัฐยะไข่ ทั้งหมดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน

รัฐยะไข่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่เมืองสิตตะเวตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. และประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่ 21.00 น. ถึง 04.00 น. กับมีการจำกัดการเดินทางเข้าและออกจากรัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง