รีเซต

นายกฯ ไฟเขียวข้อเสนอสภาดิจิทัลฯ ปลดล็อค Capital Gain tax -สรรพากรรับลูก ใช้จริงใน 3 ด.

นายกฯ ไฟเขียวข้อเสนอสภาดิจิทัลฯ ปลดล็อค Capital Gain tax -สรรพากรรับลูก ใช้จริงใน 3 ด.
มติชน
21 มกราคม 2565 ( 22:49 )
60

ข่าววันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังการรายงานความคืบหน้าจากนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ DCT และเครือข่ายพันธมิตร ถึงความสำเร็จในการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพการ ในออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลฯ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย รวมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ประมาณไตรมาสแรกของปีนี้

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ ได้รายงานต่อที่ประชุม ศบศ. ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการที่สภาดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกรมสรรพากร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวทช. NIA และ ก.ล.ต. เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของกรมสรรพากรในการดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.ฎ. ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้สภาดิจิทัลฯ ได้เสนอให้มีการจัดโรดโชว์นำทัพโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ไปยังกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพที่เป็นเป้าหมายตลอดปี รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เกษตรกร ประมง รวมถึง Soft Power ด้านภาพยนตร์ กีฬา และ E-Sport พร้อมการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประกอบการในเรื่องต่าง ๆ เช่น มีที่ปรึกษาในการตอบคำถาม การช่วยประสานงานกับภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลและคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯได้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax และแนวทางส่งเสริมดังกล่าวนี้จะสร้างสตาร์ทอัพไทยรายใหม่เป็นจำนวนถึง 5,000 รายในปี 2565 ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

“ถือเป็นความสำเร็จ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในประเทศไทย นับจากนี้ สภาดิจิทัลฯ จะเร่งดำเนินการประสานและร่วมทำงานในการออก พ.ร.ฎ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพแก่ผู้ประกอบการไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้นอกเหนือจากภาพการลงทุนแล้ว สภาดิจิทัลฯ ยังคงให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนา Ecosystem ให้แข็งแกร่ง โดยจะเน้นพัฒนากำลังคนดิจิทัลให้เทียบเท่าระดับสากล คือ ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในกลุ่มทักษะขั้นสูง 3.5 ล้านคนภายในปี 2570 โดยจะมีการสร้างมาตรฐานและใบรับรองหลักสูตรสำหรับทักษะดิจิทัลขั้นสูง โดยจะส่งเสริมการพัฒนาทักษะของกำลังคน การพัฒนาแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ที่ได้รับการรับรอง สนับสนุนให้มีการเลือกเรียนในสาขาดิจิทัลขั้นสูงมากขึ้น รวมทั้งการดึงผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มจำนวนกลุ่มแรงงานดิจิทัลขั้นสูงในอนาคต” นายศุภชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ ศบศ. ได้เห็นชอบในมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ และได้มอบหมายให้สภาดิจิทัลฯ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร หาข้อสรุปในการในการปรับปรุง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ปี 2559 (ฉบับที่ 597) และปี 2560 (ฉบับที่ 636) เพื่อรายงานความคืบหน้าให้ฝ่ายเลขาฯ และ ศบศ. ภายใน 30 วัน อีกทั้งยังมอบหมายให้ทางสภาดิจิทัลฯเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการและกำหนดแนวทางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศ

 

ด้าน นายศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคม Thai Venture Capital Association (TVCA) และหุ้นส่วนบริหาร N-Vest Venture Co., Ltd กล่าวว่า “พ.ร.ฎ.การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax ฉบับนี้ถือว่าเป็นสร้างสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมศักยภาพการลงทุนให้กับสตาร์ทอัพและ Tech companies ได้อย่างมาก อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ อาจไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดให้ต่างชาติย้ายฐานการลงทุนมาประเทศไทยในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตสู้กับประเทศอื่นได้ และจะทำให้สตาร์ทอัพไทยสามารถดึงบุคลากรที่มีศักยภาพจากทั่วโลกมาร่วมสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย”

 

ขณะที่ นางณิชาภัทร อาร์ค Director & Thailand Coverage, Openspace Ventures ตัวแทนจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า “การยกเว้นภาษี Capital Gains Tax นี้จะช่วยดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพจะพิจารณาหลายปัจจัย ตั้งแต่แผนธุรกิจและศักยภาพของสตาร์ทอัพ ขนาดของตลาด (Market Size) การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพิจารณาเรื่องนโยบายภาษีของประเทศที่จะเข้าลงทุนด้วย ดังนั้นมองว่า เป็นเรื่องที่ดีในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด”
ทั้งนี้ “สภาดิจิทัลฯ” ยังคงเดินหน้าในการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซึ่งถือว่าครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่ดีในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงของทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง, ภาคเอกชน พร้อมทั้งกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสภาดิจิทัลฯ จะดำเนินการผลักดัน พ.ร.ฎ. ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax ให้ออกมาเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง