รีเซต

รัฐมนตรีดีอีเอส ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะภูเก็ตหนุนเปิดเมือง- ปลอดภัยจากโควิด

รัฐมนตรีดีอีเอส ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะภูเก็ตหนุนเปิดเมือง- ปลอดภัยจากโควิด
มติชน
1 พฤศจิกายน 2563 ( 18:17 )
99

“พุทธิพงษ์” นำคณะผู้บริหารดีอีเอส พร้อมหน่วยงานในสังกัด ติดตามผลงานการพัฒนาระบบจัดการท่าเรืออัจฉริยะ จ.ภูเก็ต นำร่องตอบโจทย์การใช้งานเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด เพิ่มความมั่นใจการผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ควบคู่การตรวจคัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังโควิด-19

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ คณะผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ในโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน ที่ จ.ภูเก็ต

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบท่าเทียบเรืออ่าวปอ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการพัฒนาจัดการท่าเรือ ณ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อให้จังหวัดสามารถทราบข้อมูลและจำนวนผู้โดยสารในเรือแต่ละลำ เก็บภาพ VDO ของผู้โดยสาร พร้อมการคัดกรองอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนลงเรือ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด

ทั้งนี้ ระบบการจัดการท่าเรืออัจฉริยะในโครงการต้นแบบดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1. ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเลกลางผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยให้ผู้ประกอบการทัวร์ หรือเจ้าของเรือ ลงทะเบียนรายชื่อผู้โดยสาร ลูกเรือ กัปตัน ชื่อเรือ พร้อมเส้นทางการเดินทางของเรือ ก่อนเรือออกในแต่ละวัน พร้อมระบบรายงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง

2. ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ คือ ประตูอัตโนมัติ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้าและวัดอุณหภูมิ และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ พร้อมกล้องจับใบหน้า เครื่องอ่านบัตรประชาชน และพาสปอร์ต 3. ระบบ Wristbands ติดตามตัวบุคคลและร้องขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย และ 4. เรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อเป็นต้นแบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุด One Stop Service บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อการพัฒนาการบริหารงานท่าเทียบเรือในอนาคต

“แพลตฟอร์มนี้ได้รับการออกแบบในลักษณะ One Stop Service เช่น การเชื่อมต่อข้อมูลด้านประกันภัยแบบอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถนำสายรัดข้อมือไปยืนยันการเคลมประกันกับโรงพยาบาลได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องโทรติดต่อประกันภัย หรือนำเอกสารยืนยันตัวต่าง ๆ เข้าไปยื่นก่อนการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาได้เลย เป็นลดขั้นตอน ลดระยะเวลาไปอย่างมาก หรือจะเป็นการส่งรายชื่อนักท่องเที่ยวทุกคน ให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าก่อนการออกเดินทาง เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งแพลตฟอร์มรองรับการอัปโหลดข้อมูลจากบริษัทนำเที่ยว จากนั้นแพลตฟอร์มจะทำการส่งข้อมูลเหล่านั้น ให้กับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า และสามารถประมวลผล และสรุปผลได้โดยทันที” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบข้อเสนอแนะว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ จะทำให้ท่าเทียบเรือให้มีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าอาจจะทำให้เพิ่มขั้นตอนการดำเนินงาน และท่าเรือ/บริษัทนำเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการขยายผลไปยังท่าเรืออื่น ๆ หรือเกิดการย้ายท่าเรือของบริษัทนำเที่ยว ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงในกระบวนการในส่วนนี้ จึงควรมีการกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม และขยายผลให้มีการดำเนินการทุกๆ ท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และสามารถสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวได้

“ผมจึงสั่งการให้ดีป้า ประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการ และการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลในทุกๆ ท่าเทียบเรือในจังหวัดภูเก็ต ปิดช่องโหว่ที่พบข้างต้น เพื่อสร้างความมั่นใจ เรื่องความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯกล่าว

สำหรับโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบท่าเทียบเรืออ่าวปอ จะมีส่วนสนับสนุนให้ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มีความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้น ภายหลังมีมาตรการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูเก็ต ซึ่งพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

ส่วนความคืบหน้าของมาตรการเปิดประเทศขณะนี้ จะใช้แอปพลิเคชัน “ไทยแลนด์พลัส” และสายรัดข้อมือไว้ติดตามตัวนักท่องเที่ยว เพื่อใช้ตรวจจับอุณหภูมิร่างกาย วัดคลื่นหัวใจ มีระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน และกรณีหากมีการถอดสายรัดข้อมือออกเจ้าหน้าที่สามารถทราบได้ทันที ซึ่งจะมีผลทางกฎหมายกับตัวนักท่องเที่ยวผู้ที่ถอดสายรัดข้อมือออกด้วย เบื้องต้นช่วงแรกได้เตรียมสายรัดข้อมือไว้จำนวน 10,000 ชิ้น ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวและพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สายรัดข้อมือที่ทางท่าเทียบเรืออัจฉริยะใช้อยู่ ก็จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันกับที่รัฐบาลจะนำมาใช้กับนักท่องเที่ยวในโอกาสเปิดประเทศครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลเกิดความแม่นยำตรงกันทั้งหมด และให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง