รีเซต

คณะกรรมการ MEA ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้าของ MEA

คณะกรรมการ MEA ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้าของ MEA
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2565 ( 15:02 )
29
คณะกรรมการ MEA ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้าของ MEA

ผู้ว่าการ MEA นำคณะกรรมการ MEA ติดตามเยี่ยมชมเทคโนโลยีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลม พร้อมลงพื้นที่สำรวจอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเยี่ยมชมเทคโนโลยี EV Charging Station ตอบสนองการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นำคณะกรรมการ MEA เข้าเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานด้านระบบไฟฟ้าของ MEA ทั้งในด้านการทำงานของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลม ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทันสมัยในการควบคุม ที่เรียกว่า ระบบ SCADA/EMS/DMS (Supervisory Control and Data Acquisition/Energy Management System/Distribution Management System) การดำเนินงานบำรุงรักษาอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินต่าง ๆ และ EV Charging Station ที่ MEA ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ณ อาคารฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ที่เยี่ยมชมครั้งนี้ มีระบบ SCADA/EMS/DMS ใช้ในการตรวจสอบสถานะของการจ่ายกระแสไฟฟ้า วิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้า การทำงานของระบบควบคุมไฟฟ้า ช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมีความปลอดภัย รองรับการปรับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าในรูปแบบ Smart Grid สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า พร้อมรองรับทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสามารถเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นการพัฒนางานด้านระบบไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีความมั่นคงเชื่อถือได้ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing ที่เยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2564 มีแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV) อยู่ใต้ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ยาว 1.8 กิโลเมตร อยู่ลึกกว่า 40 เมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการเชื่อมโยงกับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินเดิมซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ยาว 7 กิโลเมตร อยู่ลึกกว่า 30 เมตร ลอดใต้แนวคลองแสนแสบ อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ระบายน้ำของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งทั้งหมดถือเป็นหนึ่งในอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าดับ ลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน พร้อมทั้งสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กับเมืองมหานครของประเทศไทย

ขณะที่ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบัน MEA อยู่ระหว่างดำเนินการรวมทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร ครอบคลุมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 โดยแบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 62 กิโลเมตร ในถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดา โครงการนนทรี เป็นต้น และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 174.1 กิโลเมตร เช่น ถนนพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ MEA ยังให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชน เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างของฝาบ่อพักชั่วคราวเพื่อลดรอยต่อ ทำให้ฝาบ่อเรียบเสมอกับผิวจราจรมากขึ้น การสแกนโพรงใต้ดินด้วยระบบเรดาห์ (GPR) และการ Coring หรือการเจาะรูไปยังบริเวณชั้นดินในพื้นที่ก่อสร้างบนผิว  MEA ทำให้สามารถรู้ความหนาแน่นของชั้นดินในช่วงระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง เพื่อเป็นการตรวจสอบเชิงป้องกันการทรุดตัวของบ่อพักและลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สัญจรได้

ในด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ยังเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ MEA มุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตอบสนองแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในปี 2565 เป็นวาระครบรอบ 10 ปี ที่ MEA ได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน MEA ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการชาร์จ และการเข้าถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการส่งมอบ และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ล่าสุด MEA ได้ดำเนินโครงการ "มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน." ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

#สายไฟฟ้าใต้ดิน

#โครงการมหานครแห่งอาเซียน

#MEAEV #MEAsmartservice 

#EV #EVChargingStation #EVApplication #EVcharger

#MEA #การไฟฟ้านครหลวง

#MEASMARTENERGY

#MEASMARTPROJECT

#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง