รีเซต

"บิ๊กเล็ก" สั่งสธ.แก้เตียงขาด จ่อคุมเข้ม-พิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์กทม. 7 วัน

"บิ๊กเล็ก" สั่งสธ.แก้เตียงขาด จ่อคุมเข้ม-พิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์กทม. 7 วัน
มติชน
25 มิถุนายน 2564 ( 08:38 )
70
"บิ๊กเล็ก" สั่งสธ.แก้เตียงขาด จ่อคุมเข้ม-พิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์กทม. 7 วัน

“บิ๊กเล็ก” สั่งสธ.แก้เตียงขาด จ่อคุมเข้ม-พิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์กทม. 7 วัน ส่วน “รพ.จุฬา-ศิริราช” ยอมรับเตียงเต็ม สปสช.เล็งดีลรพ.เอกชนขยายเตียงเพิ่ม

 

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงวิกฤตเตียงไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ได้มอบหมายให้ กทม.และ สธ.ประสานงานกัน ซึ่งทาง ศปก.ศบค.อยากให้มีการย้ายผู้ป่วยในระดับสีเขียวเข้าไปอยู่ในฮอสปิเทล (Hospitel) ซึ่งได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเตียงว่างจำนวนมาก และให้ รพ.สนามของ กทม.ปรับปรุงเป็น รพ.ที่เปิดรับผู้ป่วย สีเหลืองและแดง รวมทั้งมอบหมายให้พิจารณา รพ.เอกชนมาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐและ กทม. มีจำกัดและเหนื่อยล้า จึงต้องขอความร่วมมือและประสานไปยัง รพ.เอกชน

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแพทย์เสนอให้ล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า พยายามเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้กำลังพิจารณากันอยู่ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงประชาชนบางส่วนซึ่งเราต้องไม่ประมาท และคงมาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาดบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) โดยจะพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

 

 

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พยายามประสานกับ รพ.เอกชนหลายแห่ง ขอให้ขยายเตียงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สนาม หรือฮอสปิเทล ตรงนี้จะเป็นมาตรการเสริมเพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งจากการหารือกัน ขณะนี้คาดว่าจะขยายได้อีกประมาณ 1,000 เตียง

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.ศิริราช ออกประกาศเรื่อง ปิดให้บริการผู้ป่วยหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อในหน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความแออัด ยากแก่การรักษาระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้มารับบริการ รพ.ศิริราช จึงขอปิดให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 23-30 มิถุนายน 2564

 

 


นอกจากนี้ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ได้ออกประกาศว่า แผนกฉุกเฉิน (ER) จำเป็นต้องลดการให้บริการชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก และห้องไอซียูของโรงพยาบาลเต็มทั้งหมด

 

 

 

ขณะที่ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า คัดกรองโควิด-19 รพ.จุฬาฯ ปิด 4 วัน 24-27 มิถุนายน เพราะไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ห้องฉุกเฉินอยู่แล้ว เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้ตรวจเช่นกัน เนื่องจากตรวจแล้วต้องรับก็ไม่มีเตียงไม่มีคนดู เลยกลายเป็นมีอาการก่อนจึงมาห้องฉุกเฉิน ซึ่งล้วนมีอาการปอดบวมแล้วและอาการหนัก ไม่มีเตียงอยู่ดี ทุก รพ.น่าจะเหมือนกันหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง