รีเซต

ซีพีเปิดโรดแมปลดคาร์บอนทั้งห่วงโซ่สู่ Net Zero 2050 ยกระดับความร่วมมือสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ด้านซีพีแอ็กซ์ตร้าพร้อมเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ซีพีเปิดโรดแมปลดคาร์บอนทั้งห่วงโซ่สู่ Net Zero 2050 ยกระดับความร่วมมือสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ด้านซีพีแอ็กซ์ตร้าพร้อมเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2568 ( 16:30 )
11

ซีพีเปิดโรดแมปลดคาร์บอนทั้งห่วงโซ่สู่ Net Zero 2050 ยกระดับความร่วมมือสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ด้านซีพีแอ็กซ์ตร้าพร้อมเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กรุงเทพฯ – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัทในเครือ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนบนเวที Decarbonize Thailand Symposium 2025 ภายใต้หัวข้อ "Deep-Dive from Trends to Solutions" เจาะลึกเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน จากเทรนด์สู่โซลูชัน” โดยมี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนางศิริพร เดชสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมถ่ายทอดแนวทางขับเคลื่อนองค์กรและห่วงโซ่อุปทานสู่ Net Zero ร่วมกับผู้มีส่วนร่วมกว่า 300 รายจากทั้งกลุ่มคู่ค้ารายใหญ่ รายย่อยของเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ และพันธมิตรจากหลากหลายอุตสาหกรรม

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า โลกธุรกิจในวันนี้เผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของตลาดคาร์บอน และการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยี AI สิ่งเหล่านี้ล้วนผลักให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวและร่วมแก้ไขปัญหาของโลกอย่างเป็นรูปธรรม 

 

ภายใต้บริบทนี้ เครือซีพีได้กำหนดยุทธศาสตร์ความยั่งยืนในกรอบ “Heart-Health-Home” โดยมีเป้าหมายระยะยาว 3 ด้าน ได้แก่ การบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนกว่า 50 ล้านคน พร้อมประกาศโรดแมปการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะใกล้ (Near-term SBT 2030) โดยตั้งเป้าลด Scope 1 และ 2 ลง 42% และ Scope 3 ลง 25% ภายในปี 2030 

 

แนวทางปฏิบัติจริงประกอบด้วย การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% ผ่านการติดตั้ง Solar PV 3 กิกะวัตต์ การใช้ไบโอแมสและไบโอแก๊ส การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20% การเลิกใช้ถ่านหิน และการจัดการของเสียเป็นศูนย์ ขณะที่การลดคาร์บอนจาก Scope 3 ดำเนินการร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การติด Solar PPA การส่งเสริมเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำกว่า 3.5 ล้านไร่ และการใช้ยานยนต์ขนส่งพลังงานสะอาด เช่น รถ EV และรถไฮโดรเจน

ดร.ธีระพล ย้ำว่า “การลดคาร์บอนไม่ใช่ภารกิจขององค์กรเพียงลำพัง แต่ต้องทำร่วมกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ โดยซีพีได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ ที่เน้นการลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยยึด 3 แกนหลัก ได้แก่ Responsible Supply Chain Management, Supply Chain Decarbonization และ Human Rights” 

ด้านนางศิริพร เดชสิงห์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CPAxtra ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม Scope 1, 2, 3 ให้ได้ 4.18 ล้านตันภายในปี 2030 โดยเฉพาะ Scope 3 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้าในทุกกระบวนการ โดยบริษัทได้วาง 4 แนวทางสนับสนุน ได้แก่ การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อวัดข้อมูล, การอบรมเวิร์กช็อป, การชวนเข้าร่วมโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และการผลักดันให้คู่ค้าเป็น Green Supplier ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียวจากธนาคารพันธมิตร 

 

ในงานเดียวกัน นางสาวศิริอนงค์ ชื่นชวลิต จากยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นคู่ค้าของ CPAxtra กล่าวถึงเป้าหมาย Net Zero ปี 2039 ขององค์กรจำเป็นต้องขับเคลื่อนร่วมกับพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมระบุว่าซีพี แอ็กซ์ตร้า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการผลักดันความยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจค้าปลีก และสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริโภคผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนต่ำ 

 

นางสาวภาสินี ตั้งสุริยาไพศาล CEO บริษัท เอ็นเนเบิล เอิร์ธ จำกัด หนึ่งในสตาร์ทอัปผู้ร่วมงาน กล่าวว่า บริษัทพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเปลี่ยนซังข้าวโพดเป็นไบโอชาและคาร์บอนเครดิต ซึ่งช่วยลดการเผาในที่โล่งและสนับสนุนธุรกิจไทยรับมือมาตรการ CBAM จากตลาดต่างประเทศ 

งาน Decarbonize Thailand Symposium 2025 จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดย ทรู ดิจิทัล พาร์ค และ นิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) ในปีนี้เน้นการนำเสนอ Use Case ที่ใช้ได้จริงใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงาน เทคโนโลยีการเกษตร อาคารสีเขียว และการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่สตาร์ทอัปไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ถือเป็นเวทีสำคัญในการเร่งสร้างความร่วมมือ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง