ชลประทาน จ.นครราชสีมา อัพเดทล่าสุด ลำเชียงไกร น้ำลดแล้ว!
ภาพจาก โครงการชลประทานนครราชสีมา
นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ย้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง “ยังไม่แตก” ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา มีระดับน้ำเก็บกัก 41.96 ล้าน ลบ.ม. (151.49%) ซึ่งเกินระดับเก็บกักสูงสุด และมีน้ำส่วนเกินไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.เทพารักษ์ และ อ.ด่านขุนทด เป็นปริมาณมากไหลลงสู่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง
จนกระทั่งวันนี้ (26 กันยายน 2564) เวลาประมาณ 13.00 น. น้ำเกิดไหลข้ามทำนบชั่วคราวของบ่อก่อสร้าง และข้างตัวอาคาร กว้างประมาณ 15.00 เมตร จึงได้ใช้ช่องทางระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารระบายน้ำ เพื่อเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระบายน้ำ แทนที่จะต้องตัดคันดินที่ต้องเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อที่ต้องการให้ปริมาณน้ำออก เท่ากับหรือมากกว่าน้ำเข้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวทำนบดินอ่างเก็บน้ำ ซึ่งยาว 3,600 ม. ปัจจุบัน อัตราการไหลของน้ำผ่านช่องทางทุกช่องทาง ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที เท่ากับอัตราการไหลเข้าของน้ำเข้าอ่างฯ และขอย้ำว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ล่าสุด เช้าวันนี้ (27 ก.ย.64) ระดับน้ำใน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ลดลง 30 ซม. (เริ่มลดลงเวลา 1:00) และเหลือถึงระดับสันทำนบดิน อ่างฯ 60 ซม. หมายถึง ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาที < (ลดลง/น้อยกว่า) ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทุกช่องทาง (ช่อง river outlet ซ้าย/ขวา , กาลักน้ำ /สูบน้ำ ,รถสูบซิ่ง ,ทางระบายน้ำฉุกเฉินขวา (Emergency Spillway) ,และช่องบ่อก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ( Service Spillway) จึงยังไม่ต้องตัดคันทำนบดินอ่างฯ จุดอื่นเพิ่มการระบายอีก
ระดับน้ำในอ่างฯ ทรงตัวและลดลง ทำให้ ไม่เกิดล้นข้ามทำนบดินสันของอ่าง ในลักษณะพังทลาย หรือเขื่อนแตก สามารถบริหารน้ำออกอ่างฯให้มากกว่าหรือเท่ากับน้ำเข้าอ่างฯ รักษาความปลอดภัยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พ้นวิกฤติ และบรรเทาความเสียหายด้านท้ายน้ำ ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ยังคงไหลลงมาจากตอนบน ห้วยสามบาท ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่องต่อไป