รีเซต

กมธ.ชี้ไร้สัญญาณคว่ำ 'กฎหมายลูก' เสียงข้างน้อย ยังยื้อบัตร 2 ใบเบอร์เดียวกัน

กมธ.ชี้ไร้สัญญาณคว่ำ 'กฎหมายลูก' เสียงข้างน้อย ยังยื้อบัตร 2 ใบเบอร์เดียวกัน
มติชน
30 เมษายน 2565 ( 12:42 )
78
กมธ.ชี้ไร้สัญญาณคว่ำ 'กฎหมายลูก' เสียงข้างน้อย ยังยื้อบัตร 2 ใบเบอร์เดียวกัน

ข่าววันนี้ 30 เมษายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่).. พ.ศ. …. ร่วมเสวนาทิศทางร่างกฏหมายลูกเลือกตั้งคว่ำหรือไปต่อ ผ่านรายการพบผู้ชมผู้ฟัง ออนไลน์ สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างกฎหมายลูกการเลือกตั้งนั้น มีสัดส่วน กมธ.จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดีและเป็นไปตามกรอบ โดยไทม์ไลม์ที่สำคัญขณะนี้คือวันที่ 18 พฤษภาคม จะเชิญผู้แปรญัตติชี้แจงและนำเสนอการแปรญัตติแก่ กมธ. และวันที่ 19 พฤษภาคมจะพิจารณาร่างกฎหมายโดยภาพรวม เพื่อวันที่ 24 พฤษภาคมจะยื่นร่างกฎหมายที่พิจารณาเสร็จแล้วต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้

 

ด้านนายชินวรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างเบอร์นั้น โดยระบบบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ประเทศไทยเคยใช้มาแล้วจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2540 และปี 2550 โดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปลี่ยนบริบททางการเมืองในการทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ในการเลือกตั้งทั้งผู้แทนราษฎรทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ หรือที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกว่าเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ขณะเดียวกันบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ จะทำให้คะแนนเสียงไม่ตกน้ำและจะไม่เกิดปัญหาเรื่องบัตรเขย่งด้วย

 

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น จะเป็นการนำคะแนนจากการเลือกตั้งทั้งหมดมาหารด้วย 100 และนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาเป็นตัวกลางหารไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ตามเปอร์เซ็นต์ที่ได้ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะเป็นสัดส่วนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ ทั้งนี้ พรรคเล็กจะมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาตามบัตรเลือกตั้ง 2 ใบหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบส่งผลกระทบต่อพรรคเล็ก ซึ่งตนก็เห็นใจพรรคเล็กในประเด็นนี้ ฉะนั้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงพยายามแก้จุดอ่อนที่เป็นข้อจำกัดของพรรคเล็ก เช่น ให้ทุกพรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ โดยกฎหมายเดิมพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงจะสามารถจัดทำบัญชีรายชื่อได้

 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ตนมองว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเบอร์เดียวกัน จะยิ่งส่งเสริมสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ได้ง่ายที่สุด และยังเป็นการส่งเสริมพรรคการเมืองให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างชัดเจน แต่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบต่างเบอร์ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดเลือกตั้ง เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งกว่า 400 แบบ โดยเฉพาะเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยืนยันว่าเมื่อร่างกฎหมายลูกเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 กมธ.เสียงข้างน้อยจะยังสู้ต่อ ส่วนที่มีการระบุว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและการซื้อเสียงนั้น ยังไม่มีหลักวิชาการเข้ามาสนับสนุน โดยส่วนตัวเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะสามารถยอมรับเหตุผลดังกล่าวในวาระที่ 3 ได้

 

เมื่อถามว่า จะมีปัจจัยอะไรส่งผลต่อการลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกหรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในมุมผู้จัดทำร่างกฎหมายขณะนี้ ยังมั่นใจว่าไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้กฎหมายลูกไม่ผ่าน ซึ่งการเมืองไทยไม่มีสิ่งใดที่แน่นอน ซึ่งวิกฤติทางการเมืองเป็นเรื่องที่แปรปวน สิ่งที่จะทำให้กฎหมายลูกไม่ผ่านได้มีแค่ 2 ประเด็น คือ สมาชิกรัฐสภาคว่ำร่าง หรือเกิดการยุบสภาก่อนกฎหมายลูกจะผ่าน โดยเวลานี้ความเป็นไปได้โดยสมาชิกรัฐสภาจะคว่ำร่าง เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงวันรับร่างกฎหมายยังมีสัญญาณที่ดี เว้นแต่กรณีที่ต้องการสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องการยุบสภาก็อาจจะเกิดการคว่ำร่างกฎหมายลูกได้ นั่นคือผู้มีอำนาจต้องการอยู่ในอำนาจโดยใช้ช่องทางการไม่มีกฎหมายลูกจึงจะไม่มีการเลือกตั้ง

 

“สิ่งที่น่ากังวลคือช่วงการรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคมและวันที่ 1-2 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงวาระรับหลักการในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว หากมีวิกฤตตรงนั้น ทุกอย่างก็จบ ส่วนตัวผมเป็นห่วงเรื่องการยุบสภาว่าจะใช้กฎหมายใดเพื่อรองรับการเลือกตั้ง แม้มีนักวิชาการออกมาเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อนำมาบังคับใช้ได้ แต่พ.ร.ก.ออกมาเพื่อบังคับใช้แทนพ.ร.บ. ไม่สามารถบังคับใช้แทนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ จะให้ กกต. เป็นผู้พิจารณาออกประกาศก็เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าว จะเกิดกรณีเดดล็อกต่อประเทศ แต่จะมีประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะรักษาการได้ยาว ซึ่งหากรัฐบาลคิดที่จะอยู่ต่อโดยใช้กรณีดังกล่าว ผมมองว่าเป็นการคิดร้ายต่อประเทศและประชาชนซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ควรคิด” นพ.ชลน่าน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง