รีเซต

นับถอยหลัง 3 ปี ไทยแพ้เวียดนาม ขึ้นแท่นเบอร์ 2 อาเซียน

นับถอยหลัง 3 ปี  ไทยแพ้เวียดนาม  ขึ้นแท่นเบอร์ 2 อาเซียน
TNN ช่อง16
15 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
20

ประเทศเวียดนามกำลังจะแซงหน้าประเทศไทย

นับถอยหลังอีกแค่สามปีเท่านั้นก็ขึ้นเบอร์สองของอาเซียนได้

และจะขึ้นไปถึงอันดับ 20 ของโลกด้วย 

และแม้ว่าวันนี้เวียดนามจะเจอกับภาษีทรัมป์ถึง 46 %

แต่ล่าสุดผู้นำของเวียดนามก็ยังคงมั่นใจจะไม่กระทบต่อการเติบโตในปีนี้ ที่ตั้งไว้ที่ 8 %


เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐเกินดุลอย่างหนัก

โดยเฉพาะปีที่ผ่านเกินดุลกว่าแสนล้านดอลลาร์ สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก 

จึงทำให้ล่าสุดโดนรีดภาษีตอบโต้หรือภาษีศุลกากรนำเข้าสูงถึง 46 % มากกว่าไทยที่โดนเรียกในอัตรา 36 %

และระหว่างนี้ทุกชาติโดยเฉพาะอาเซียนของเราก็กำลังเร่งหาทางและรอการเจรจาต่อรองภาษี

กับทางประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ  ในช่วงเวลาระงับใช้ภาษีดังกล่าวชั่วคราว 90 วัน 


หลายประเทศออกมายอมรับและแสดงความกังวลใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น 

รวมถึงหั่นเป้าการเติบโต หรือจีดีพี แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่สำหรับเวียดนาม


นายกฯ เวียดนามยังคงมุ่งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม

แม้สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราสูงลิบลิ่ว 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2568  

ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวต่อรัฐสภาว่า

เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายมากกว่าโอกาส

จากภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯที่สูงถึง 46 % 

แต่ยังคงตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างน้อย 8% ในปีนี้ 

โดยระบุด้วยว่าษีศุลกากรของสหรัฐฯ 

กำลังคุกคามห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและเศรษฐกิจโลก 

โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาคที่สำคัญของบริษัทตะวันตกหลายแห่ง 

และมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ กว่า 123,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว


นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวในการประชุมประจำเดือนของรัฐบาลว่า

ธุรกิจบางส่วนในภาคการส่งออกของเวียดนาม 

เช่น สิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์ไม้  ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศเองก็ฟื้นตัวไม่เร็วนัก

และทำให้การบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย

แต่เขาก็ยังคงเชื่อมั่นว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 

กระจายความหลากหลายของตลาด และขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ส่งออก

เวียดนามจะพยายามเพิ่มการส่งออกไปยังตลาด 17 แห่งที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีด้วย

เวียดนามยังพยายามกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มการลงทุนสาธารณะเพื่ออัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้ 

รวมถึงการเริ่มงานสร้างเส้นทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่เชื่อมท่าเรือไฮฟองกับจีน


เขาระบุว่า รัฐบาลเวียดนามจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษาสมดุลทางการค้า

โดยไม่ให้ตลาดอื่นเสียประโยชน์ พร้อมเดินหน้าต่อต้านการฉ้อโกงการค้าอย่างเข้มงวด 


ทั้งนี้เวียดนามพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 30% ของ GDP

ขณะที่ตัวเลข GDP ล่าสุด ไตรมาสแรกของปีนี้ มีการขยายตัวเพียง 6.93% 

ต่ำกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เวียดนามก็ยังคงตั้งเป้าการขยายตัวสองหลักในระยะยาว 

และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี 

เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 

อย่างรถไฟความเร็วสูงและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


นอกจากนี้ยังมีดัชนีภาคการผลิตล่าสุด ที่บ่งชี้ว่ากิจการโรงงานของเวียดนามหดตัวต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี 

ขณะที่รัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากความล่าช้าในการเติบโตและความเสี่ยงสงครามการค้า 

ซึ่งทำให้ต้องเร่งใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย


ภาษีทรัมป์ได้กลายเป็นด่านใหญ่ เป็นก้างขวางคอของเวียดนามเวลานี้

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่โตอย่างต่อเนื่อง ทั้งพุ่งแรงและสดใสก่อนหน้านี้ 

ซึ่งจะพาไปเวียดนามก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูงได้ไม่ยากนัก

และยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า

เวียดนามจะแซงหน้าไทย ขึ้นไปเป็นเบอร์สองของอาเซียนได้ 


ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจในลอนดอน สหราชอาณาจักร

โดยอ้างอิงจากรายงาน World Economic League Table  คาดการณ์ว่า 

เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เป็นรองเพียงแค่อันดับหนึ่งอย่างอินโดนีเซีย และใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลกภายในปี 2579 


เวียดนามใช้แผน 5 ปีสำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจ ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2564-2568 

โดยรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันเน้นการเติบโตจะมาจากภาคการผลิต 

รับแรงหนุนจากการบูรณาการไปสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

จากความร่วมมือทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงในการส่งออก


ที่สำคัญ คือ เวียดนามยังตั้งเป้าที่จะบรรลุสถานะเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2588 ( 20 ปีนี้)

และเพื่อให้สำเร็จตามเป้า เวียดนามจะต้องเติบโตในอัตราต่อหัวเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 5% 

ขณะที่แผน 5 ปีที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ประมาณการการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5% ต่อปีในทศวรรษหน้า 

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้


นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า

เวียดนามจะขึ้นแท่นเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียนได้แล้วในปีนี้

รองจากอันดับหนึ่งอินโดนีเซีย และอันดับสองประเทศไทย 

จาก GDP  ที่ 5.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ปาดหน้าแซงหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ขึ้นมาได้สำเร็จ 


ที่่ต้องจับตา คือ มีการคาดการณ์ว่าภายในสามปีนี้ หรือ ภายในปี 2571

เวียดนามจะแซงหน้าไทย ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนอย่างเป็นทางการ

ทำให้ไทยจะหล่นไปอยู่ในอันดับที่ 3 ของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม วันนี้ เวียดนามยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญต่างๆ มากมาย

โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่อย่างการยกระดับขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

ทั้งจากการค้าโลกที่ถดถอยและประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้น เวียดนามจึงจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอย่างมาก 

โดยเฉพาะในภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระบบอัตโนมัติ 

หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานแทนมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ


ทั้งนี้ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่า GDP เวียดนามตลอดทั้งปี 2567 

เติบโต 7.09 % สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 6.5 % และเติบโตสูงถึง 7.55  %  ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567


นอกจากนี้ ในปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีมูลค่า 476,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เพิ่มขึ้น 10.3  % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า GDP ต่อหัว อยู่ที่ 4,700 ดอลลาร์สหรัฐ 

จากผลผลิตแรงงานที่เพิ่มขึ้นและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออํานวยในภาคส่วนสําคัญ 

เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และการบริการ มีการเติบโตอย่างมีนัยสําคัญ 

แม้ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติระลอกใหญ่หลายครั้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยปีที่แล้วเวียดนามมีโครงการลงทุนใหม่ ที่ได้รับ FDI (ลงทุนโดยตรง)

จํานวน 3,375 โครงการมูลค่า 19,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปอาหารมากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ 

โดย 5 นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนโครงการใหม่มากที่สุด 

ได้แก่ สิงคโปร์ (37.1 % ) เกาหลีใต้ (14.6 % ) จีน (14.4 % ) และฮ่องกง ( 11 % ) 


เวียดนามเหมือนคนกำลังจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ด้วยความเร็วคงที่ ทำให้แซงไทยได้ไม่ยาก

แต่ตอนนี้มีฟ้าผ่าลงมากลางสนาม นั่นคือภาษีทรัมป์ หรือภาษีนำเข้าสหรัฐ

ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะสัดส่วนภาษีที่เวียดนามโดนไปนั้นมากกว่าไทยและอีกหลายชาติ 

ขณะที่การค้าโลกก็กำลังถึงจุดเปลี่ยน ดังนั้นสามปีนี้เราคงห้ามกระพริบตา 

มาดูกันว่าที่เส้นชัยนั้นใครจะเป็นอย่างไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง