ระบาดหนัก! บุรีรัมย์ เร่งคุมโรค "ลัมปี สกิน" หลังวัว-ควาย ติดเชื้อพุ่ง 2,360 ตัว ตายแล้ว 64
ระบาดหนัก ปศุสัตว์บุรีรัมย์ เร่งคุมโรค "ลัมปี สกิน" หลังวัว-ควาย ติดเชื้อพุ่ง 2,360 ตัว ตายแล้ว 64 ตัว พร้อมฉีดวัคซีนและพ่นฆ่าเชื้อ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับ อบต.เมืองไผ่ และอ.หนองกี่ เร่งเข้าไปดำเนินการชี้แจงให้ความรู้ในการควบคุมป้องกันโรค “ลัมปี สกิน” (Lumpy skin disease) ระบาดในสัตว์ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหนองกี่ และ อบต.เมืองไผ่ จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ในการป้องกัน กำจัด และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังระดมฉีดพ่นหมอกควันตามคอกปศุสัตว์ของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ แจกยารักษาแผลภายนอก ยาบำรุง แร่ธาตุ โดยทาง อบต.เมืองไผ่ ยังได้มอบน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อแก่ปศุสัตว์อำเภอหนองกี่ เพื่อนำไปฉีดพ่นตามคอกสัตว์ของเกษตรกรในพื้นที่ ต.เมืองไผ่ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคลัมปีสกีนเข้ามาระบาดในโค-กระบือ ของเกษตรกรได้เป็นวงกว้างมากขึ้น
นายอภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างโค-กระบือ โดยมีสัตว์ดูดเลือดเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุง แมลง เห็บ ริ้น ไร แต่โรคนี้ไม่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ รักษาหายได้ และสามารถบริโภคได้
นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ทางปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ปศุสัตว์อำเภอทั้ง 23 อำเภอ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งรณรงค์ให้ความรู้ทำความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะเร่งดำเนินการฉีดยาวัคซีน ฉีดพ่นสารเคมี และหมอกควัน เพื่อกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำโรคให้ครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอ ซึ่งขณะนี้ จ.บุรีรัมย์ พบโค-กระบือ ที่ป่วยจากโรคลิมปี สกินแล้วกว่า 2,360 ตัว รักษาหายไปแล้ว 112 ตัว ตาย 46 ตัว
นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง และเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้แข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการป่วยผิดปกติ สงสัยว่าป่วยโรคลัมปีสกินให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ทันที