จีนเริ่มระดมน้ำเติม 'คลองขุด' สายยาวสุดในโลก
ปักกิ่ง, 15 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (14 เม.ย.) จีนเริ่มดำเนินโครงการจัดหาน้ำเพื่อเติมคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ซึ่งเป็นทางน้ำเชื่อมพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของจีน
กระทรวงทรัพยากรน้ำระบุว่าภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย และซานตง ดำเนินโครงการจัดหาน้ำราว 515 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเติมคลองต้าอวิ้นเหอตอนเหนือในส่วนที่แห้งเหือด
น้ำที่ใช้จะมาจากแหล่งน้ำอื่นๆ อาทิ โครงการผันน้ำใต้สู่เหนือบางส่วน น้ำรีไซเคิล และน้ำฝนสะสม โดยโครงการนี้จะเพิ่มพื้นผิวน้ำของคลองจากปีก่อนราว 9.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยปรับปรุงระบบนิเวศริมคลองด้วย
อนึ่ง คลองต้าอวิ้นเหอมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี เชื่อมต่อกรุงปักกิ่งและนครหางโจวในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในยุคจีนโบราณ
นอกจากนั้นองค์การยูเนสโกยังยกให้คลองต้าอวิ้นเหอเป็นแหล่งมรดกโลก เนื่องจากถือเป็นทางน้ำก่อสร้างโดยมนุษย์ที่มีความยาวและความเก่าแก่มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ดี วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้คลองต้าอวิ้นเหอบางส่วนเริ่มแห้งเหือดในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20